New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าว BBC อังกฤษ เรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยร่วมมือปกป้องประชาธิปไตย และสร้างหลักประกันทางความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มประชาธิปไตย

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 27 ต.ค. 65
 
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Mark Urban ผู้สื่อข่าวรายการ “Newsnight” ของบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ (BBC) และนายจางห้าวอวี่ ผู้สื่อข่าวภาคภาษาจีนของ BBC โดยกล่าวถึงผลกระทบหลังการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันและสันติภาพในภูมิภาค การเสริมสร้างแสนยานุภาพด้านกลาโหมในการป้องกันตัวเองของไต้หวัน รวมถึงการสร้างหลักประกันเพื่อป้องกันมิให้จีน เข้าถึงความลับทางเทคโนโลยีสำคัญของไต้หวัน โดยเนื้อหาในบทสัมภาษณ์ได้ถูกเผยแพร่เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 26 ต.ค. ตามเวลากรุงไทเป ผ่านช่องทางโทรทัศน์และเว็บไซต์ข้างต้น ซึ่งได้รับความสนใจและเสียงตอบรับอย่างแพร่หลายจากประชาคมโลก
 
ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ รมว.อู๋ฯ ได้โต้แย้งคำพูดของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ระบุไว้ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ว่า “ไต้หวันเป็นไต้หวันของจีน โดยจีนจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของไต้หวัน” และ “จะไม่ให้คำมั่นว่าจะล้มเลิกการใช้อาวุธ” พร้อมทั้งได้กล่าวนถึงไต้หวันด้วยการเตือนในเชิงข่มขู่ คำพูดของปธน.สีฯ สะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของจีนที่ต้องการจะเข้าครอบครองไต้หวัน และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับไต้หวันอย่างฉาบฉวย โดยไม่สนใจต่อความคิดเห็นของสังคมโลก แม้ว่าเราจะไม่สามารถคาดการณ์ได้ถึงช่วงเวลาที่จีนจะบุกโจมตีไต้หวัน แต่เมื่อจีนเผชิญหน้ากับแรงกดดันภายในประเทศ อาทิ การชะลอตัวของการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจ และความไม่พอใจของประชนชนที่มีต่อนโยบายการป้องกันโรคระบาด เราจึงไม่สามารถมองข้ามความเป็นไปได้ที่รัฐบาลปักกิ่งจะรุกรานไต้หวันด้วยกำลังทหารในเร็ววันนี้ เพื่อนำวิกฤตจากภายนอกมาเบี่ยงเบนความไม่พอใจที่เกิดขึ้นภายในประเทศ
 
รมว.อู๋ฯ แสดงจุดยืนอย่างหนักแน่นว่า ไต้หวันมุ่งมั่นในการธำรงรักษาสถานภาพเดิมระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันโดยจะไม่ยอมรับต่อหลักการ “1 ประเทศ 2 ระบบ” อย่างเด็ดขาด ซึ่งนอกจากจะเป็นการให้คำมั่นต่อประชาชนชาวไต้หวันแล้ว ยังเป็นการให้คำมั่นต่อประชาคมโลกอีกด้วย การที่รัฐบาลปักกิ่งดำเนินการฝึกซ้อมรบในพื้นที่รอบน่านน้ำไต้หวัน พร้อมยกระดับการยั่วยุไต้หวันด้วยกำลังทหาร ตลอดจนกดดันไม่ให้ไต้หวันมีพื้นที่บนเวทีนานาชาติ ต่างก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า จีนเป็นฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน มิใช่ไต้หวัน รมว.อู๋ฯ ย้ำอีกว่า เสถียรภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน มีความสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค และสอดคล้องกับผลประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย โดยรมว.อู๋ฯ คาดหวังที่จะเห็นประชาคมโลกร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก และการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
 
ต่อกรณีที่เครื่องบินรบของจีนได้เพิ่มความถี่ในการรุกล้ำเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวัน รมว.อู๋ฯ ชี้แจงว่า พวกเราจะต้องรับมืออย่างรอบคอบ และต้องเตรียมความพร้อมอย่างรัดกุม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องประเทศด้วยตนเอง และเพื่อยกระดับแสนยานุภาพในการสกัดกั้นการโจมตีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รมว.อู๋ฯ ย้ำด้วยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้อนุมัติแผนจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวันภายใต้ “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” (TRA) ตามคำมั่นสัญญาด้านความมั่นคงที่ให้ไว้กับไต้หวัน นอกจากนี้ นับตั้งแต่ที่รัฐบาลโจ ไบเดนขึ้นรับตำแหน่งเป็นต้นมา ได้มีการอนุมัติแผนจำหน่ายอาวุธให้ไต้หวันแล้ว 6 ครั้ง โดยไต้หวัน - สหรัฐฯ ยังได้สร้างความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นในประเด็นความมั่นคง อาทิ การจัดซื้ออาวุธ และการบ่มเพาะบุคลากร เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อความมั่นคงในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวันของรัฐบาลสหรัฐฯ และเพื่อให้แน่ใจว่าไต้หวันมีศักยภาพด้านการป้องกันประเทศที่เพียงพอ ในการธำรงรักษาความมั่นคงในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน รวมไปถึงสันติภาพ เสถียรภาพ เสรีภาพและการเปิดกว้างในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ให้คงอยู่ต่อไป
 
นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังย้ำว่า จากสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ระดับภูมิภาคและทั่วโลกในปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการของจีน มิได้จำกัดเฉพาะในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน แต่ยังครอบคลุมไปถึงทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ และแผ่ขยายไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันในนาม “ยุทธศาสตร์เส้นรอยต่อสร้อยไข่มุก (string of pearls)” เพื่อให้กลุ่มประเทศตามแนวเส้นทางในโครงการ “Belt and Road Initiative (BRI)” ตกอยู่ในการควบคุมดูแลของจีน ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศประชาธิปไตยจึงควรประสานความร่วมมือกันในการธำรงรักษาค่านิยมด้านประชาธิปตไย และสร้างหลักประกันด้านความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในกลุ่มประชาธิปไตย เพื่อป้องกันมิให้ระบอบเผด็จการสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้