New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 31 ต.ค . 65
Mr. Reinhard Bütikofer ประธานกลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) และหัวหน้าคณะผู้แทนความสัมพันธ์จีนแห่งรัฐสภายุโรป มีกำหนดการนำคณะตัวแทนรวม 12 คนที่ประกอบด้วยประธานร่วม 5 คน สมาชิกรัฐสภา 2 คนและเลขาธิการ เดินทางมาเยือนไต้หวันในระหว่างวันที่ 1 – 4 พ.ย.นี้ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอต้อนรับการมาเยือนของคณะตัวแทนด้วยใจจริง
IPAC เป็นกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยที่เกิดจากการรวมตัวกัน ระหว่างสมาชิกรัฐสภายุโรปและสมาชิกรัฐสภาของประเทศใน 5 ทวีปทั่วโลก ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิ.ย. ปี 2020 โดยในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ IPAC นำคณะตัวแทนเดินทางเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ หลังจากที่จีนใช้ข้ออ้างในกรณีที่ Ms. Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน มาเป็นตัวจุดชนวนที่ทำให้จีนยกระดับการข่มขู่ทางทหารที่มีต่อไต้หวัน ในเดือนก.ย. ที่ผ่านมา IPAC ก็ได้จัดการประชุมขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ในสหรัฐอเมริกา เพื่อประกาศแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการประณามรัฐบาลจีนที่เข้ารุกล้ำไต้หวันอย่างต่อเนื่อง พร้อมประกาศหนักแน่นว่าจะมุ่งมั่นผลักดันให้สมาชิกรัฐสภาเดินทางเยือนไต้หวันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสกัดกั้นภัยคุกคามทางการเมืองและการข่มขู่ไต้หวันด้วยกำลังทหารจากจีน
คณะตัวแทนกลุ่มนี้ประกอบด้วย สมาชิกรัฐสภาแบบข้ามพรมแดน รวม 8 คน ที่มาจากเยอรมนี เบลเยี่ยม สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐคอซอวอ สหราชอาณาจักรและยูเครน โดยในระหว่างการเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ คณะตัวแทนมีกำหนดการเข้าพบคารวะประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พร้อมร่วมหารือพูดคุยกับนายซูเจินชาง นายกรัฐมนตรี และเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองที่จัดโดยนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นอกจากนี้ Mr. Bütikofer ยังมีกำหนดการจะนำคณะเข้าเยี่ยมเยือนสภานิติบัญญัติ พร้อมเข้าพบปะกับนายโหยวซีคุณ ประธานสภานิติบัญญัติ และร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับสมาชิกสภานิติบัญญัติของไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมีกำหนดการเข้าเยี่ยมชมคณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่และกระทรวงเศรษฐการ ตลอดจนร่วมจัดการประชุมโต๊ะกลมเสวนาด้านเศรษฐกิจและการค้ากับสำนักงานเศรษฐกิจและการค้ายุโรป (European Economic and Trade Office ,EETO) ประจำไต้หวัน หอการค้ายุโรปประจำไต้หวัน (European Chamber of Commerce TAIWAN, ECCT) และสมาคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเจรจาด้านการเสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึกในด้านต่างๆ ระหว่างไต้หวัน – กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป อาทิ เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง และความมั่นคงทางห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น
นับตั้งแต่ที่ IPAC ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นต้นมา ก็ได้สำแดงอานุภาพในการต่อต้านการข่มขู่จากจีนมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่น ซึ่งครอบคลุมไปถึงการร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนสาธารณรัฐลิทัวเนียพัฒนาความสัมพันธ์กับไต้หวัน พร้อมเรียกร้องให้ “องค์การอนามัยโลก” (WHO) ให้การยอมรับไต้หวันไต้หวันเข้าร่วม “การประชุมสมัชชาอนามัยโลก” (WHA) รวมไปถึงการประชุม กลไกและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของ WHO นอกจากนี้ IPAC ยังได้ให้การสนับสนุนนายอู๋เจาเซี่ย รมว.กต.ไต้หวัน ที่ถูกรัฐบาลจีนกำหนดไว้ในรายชื่อแบลคลิสต์ ด้วยการเชิญรมว.อู๋ฯ เข้าร่วมการประชุมประจำปี IPAC ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ พร้อมเรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกสานสามัคคีในการธำรงรักษาเสรีภาพและประชาธิปไตย โดยไต้หวันจะเสริมสร้างความร่วมมือกับ IPAC และพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน รวมถึงสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ตลอดจนธำรงรักษาไว้ซึ่งค่านิยมสากลด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ ที่กลุ่มประเทศประชาธิปไตยยึดมั่นร่วมกัน ให้คงอยู่สืบไป