New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวันจัดงานเลี้ยงรับรองเพื่อให้การต้อนรับแก่สมาชิกรัฐสภาแบบข้ามพรมแดนในทวีปยุโรปแห่ง IPAC พร้อมกล่าวแสดงความขอบคุณสำหรับมิตรภาพอันแข็งแกร่งของ IPAC ที่มีต่อไต้หวัน ด้วยการให้การสนับสนุนอย่างหนักแน่นเสมอมา

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 1 พ.ย. 65
 
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดงานเลี้ยงรับรองเพื่อให้การต้อนรับแก่สมาชิกรัฐสภาแบบข้ามพรมแดนในทวีปยุโรปแห่งกลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) โดยรมว.อู๋ฯ ขอต้อนรับคณะตัวแทนกลุ่มแรกที่เดินทางเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ IPAC ได้เปิดฉากขึ้นนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. ปี 2020 เป็นต้นมา พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังแสดงความขอบคุณต่อ IPAC ที่ยึดมั่นในการธำรงรักษาสันติภาพ และร่วมต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบันของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ที่เกิดจากความเห็นชอบเพียงฝ่ายเดียวของจีน ตลอดจนให้การสนับสนุนไต้หวัน และให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานด้านเสรีภาพและประชาธิปไตย
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า นับตั้งแต่ที่ IPAC จัดตั้งขึ้นในปี 2020 เป็นต้นมา การรวมตัวกันเรียกร้องอย่างเป็นรูปธรรมของสมาชิกรัฐสภาจากนานาประเทศ บังเกิดผลสัมฤทธิ์ในการปลุกจิตสำนึกให้ทั่วโลกตระหนักถึงภัยคุกคามของจีนที่ส่งผลกระทบต่อกฎระเบียบระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตราบจนปัจจุบัน มีหลายคนที่ถูกรัฐบาลจีนกำหนดไว้ในรายชื่อแบลคลิสต์ โดยรมว.อู๋ฯ ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่ถูกจีนกำหนดไว้ในรายชื่อแบลคลิสต์ พร้อมกล่าวให้การต้อนรับทุกคนที่ประสบชะตากรรมเดียวกันว่า “ยินดีต้อนรับเข้าสู่สโมสรแบลคลิสต์ครับ”
 
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จของ IPAC เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงวิกฤตในโลกเสรีที่ต่อต้านการขยายตัวเชิงรุกของจีน ปัจจุบัน มีหลายประเทศตระหนักแล้วว่า จีนใช้กำลังอาวุธในการท้าทาย เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของสองฝั่งช่องแคบไต้หวันด้วยการข่มขู่อย่างไม่ปราณี ซึ่งส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ตลอดจนเป็นการทำลายความสงบเรียบร้อยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล อันจะเห็นได้จากการค้าที่ไม่ยุติธรรม การข่มขู่ด้วยกำลังทหาร การวางหลุมพรางหนี้สิน การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ  ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ในการควบคุมที่ไม่เหมาะสมของรัฐบาลจีน นอกจากนี้ ประชาธิปไตยไต้หวันมีการพัฒนาและเติบโตอย่างรุดหน้าภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลจีนข่มขู่ด้วยกำลังทหารอย่างต่อเนื่อง สำแดงให้เห็นถึงความทรหดและการรับมือกับแรงกดดัน โดยไต้หวันยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์ด้านการปกป้องประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาคมโลก เมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เกิดจากการแผ่ขยายอำนาจของประเทศเผด็จการ ไต้หวัน และ IPAC ต่างเชื่อมั่นว่า ความสามัคคีจะนำมาซึ่งพลังอันแข็งแกร่ง ด้วยเหตุนี้ จึงขอเรียกร้องให้ประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ประสานความสามัคคี ด้วยการปรับแก้นโยบายผ่านกระบวนการบัญญัติกฎหมาย เพื่อเป็นการปูรากฐานในการเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึก ระหว่างไต้หวัน – กลุ่มประเทศในยุโรป ทั้งนี้ เพื่อร่วมธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน รวมไปถึงเสรีภาพและการเปิดกว้างในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ให้คงอยู่ต่อไป
 
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนเชิงกว้างในประเด็นต่างๆ อาทิ โอกาสความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน – ยุโรป แนวทางการให้ความช่วยเหลือไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรมของ IPAC ภัยคุกคามที่ไต้หวันได้รับจากจีนในแง่มุมต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน