New Southbound Policy Portal

คณะกรรมการกิจการทางทะเลไต้หวันจัดการประชุมนานาชาติเนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีแห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลและนโยบายกิจการทางทะเล เพื่อจัดตั้งแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนด้านกฎหมายทางทะเล ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

คณะกรรมการกิจการทางทะเล วันที่ 2 พ.ย. 65
 
เพื่อร่วมรำลึกถึงพัฒนาการของกฎหมายทางทะเล ที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลานานกว่า 40 ปี คณะกรรมการกิจการทางทะเล สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้จัด “การประชุมนานาชาติเนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีแห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea, UNCLOS)  และนโยบายกิจการทางทะเล” รูปแบบออนไลน์ ขึ้นในระหว่างวันที่ 2 – 3 พ.ย. เพื่อร่วมอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญา UNCLOS รวม 5 มิติ ได้แก่ การพัฒนาระบบกฎหมายทะเล การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและกฎหมายทะเล ความมั่นคงในการเดินเรือและการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาความขัดแย้งและการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นรวม 200 กว่าราย
 
การประชุมในครั้งนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร อิตาลี โปแลนด์และไต้หวัน เข้าร่วมด้วย โดยในจำนวนนี้ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ และผู้เชี่ยวชาญจากแวดวงอุตสาหกรรม ภาครัฐและภาควิชาการภายในประเทศ อาทิ นายซ่งเยี่ยนฮุยและนายเซ่าก่วงเจา 2 นักวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาติ  (Academia Sinica) Dr. Robert Beckman ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore, NUS) ดร.ชิวเหวินเยี่ยน ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยสมุทรศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan Ocean University, NTOU) Dr. Lorenzo Schiano di Pepe ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเจนัว (University Of Genoa) นายเฉินหย่งคัง กรรมการที่ปรึกษาจากสถาบันวิจัยด้านความมั่นคงแห่งไต้หวัน (Taiwan Center for Security Studies, TCSS) เพื่อร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านความรู้ความชำนาญร่วมกัน
 
นายโจวเหม่ยอู่ รักษาการประธานคณะกรรมการกิจการทางทะเล กล่าวขณะปราศรัยว่า นับตั้งแต่ที่อนุสัญญา UNCLOS มีผลบังคับใช้ในปีค.ศ. 1994 เป็นต้นมา ตราบจนปัจจุบัน ก็ได้ปรับเปลี่ยนให้หลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ กลายมาเป็นข้อบัญญัติทางกฎหมาย ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็น “กฎบัตรของกิจการทางทะเลสากล” พร้อมนี้ นายโจวฯ ยังได้แสดงความขอบคุณต่อหน่วยงานและสถาบันการศึกษาที่ร่วมจัดการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยคุรุศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan Normal University, NTNU) สถาบันวิจัยด้านความมั่นคงแห่งไต้หวัน (TCSS) และมูลนิธิการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศแห่งภูมิภาคเอเชีย (DILA) ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้นักวิชาการจากนานาประเทศทั่วโลก รวมตัวกันร่วมอภิปรายในประเด็นสำคัญระดับโลก ตลอดจนธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศบนพื้นฐานของกฎกติกาสากล เพื่อสร้างหลักประกันด้านเสรีภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ให้คงอยู่สืบไป
 
การประชุมในครั้งนี้ ยังมีการจัดเวทีการเปิดตัวผลสัมฤทธิ์ของกลุ่มนักวิชาการเยาวชนจากนานาประเทศ ประกอบด้วย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้นักวิชาการรุ่นใหม่ทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมวิจัยกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ตลอดจนเป็นการบ่มเพาะทักษะความรู้ความชำนาญของบุคลากรด้านกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ในภายภาคหน้าต่อไป
 
นายโจวฯ กล่าวว่า ไต้หวันและประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ต่างยึดมั่นในค่านิยมสากลด้านประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชนและหลักธรรมาภิบาล รวมไปถึงทรัพยากรทางทะเลที่ได้จากผืนทะเล เมื่อต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางกิจการทางทะเลในภูมิภาค ไต้หวันยินดีประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อสร้างคุณประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นในด้านการพัฒนากิจการทะเลในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ให้เกิดความยั่งยืน และเพื่อร่วมสรรค์สร้างมหาสมุทรที่มีความยั่งยืน มั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป