New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 3 พ.ย. 65
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมการประชุม Oslo Freedom Forum in Taiwan ที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชน (Human Rights Foundation) แห่งสหรัฐฯ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงไทเป โดยรมว.อู๋ฯ เริ่มต้นกล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการประชุม ด้วยการทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวต้อนรับแขกจากมูลนิธิฯ ที่เดินทางมาจัดการประชุมขึ้นในไต้หวันเป็นครั้งที่ 3 โดยรมว.อู๋ฯ ย้ำว่า ไต้หวันตั้งอยู่ในแนวหน้าของการรับมือกับการแผ่ขยายของอำนาจเผด็จการ โดยไต้หวันมีหน้าที่ร่วมสกัดกั้นอิทธิพลที่ต้องการจะทำลายค่านิยมด้านประชาธิปไตย พร้อมร่วมประสานความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ในการเสริมสร้างความทรหดแห่งประชาธิปไตยขึ้น นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังเรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ประสานสามัคคีในการต่อต้านการแผ่ขยายอำนาจของระบอบเผด็จการ ซึ่งการแสดงปาฐกถาของรมว.อู๋ฯ ในครั้งนี้ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีเป็นอย่างมากจากผู้เข้าร่วมการประชุม
รมว.อู๋ฯ ได้แสดงความเคารพต่อเหล่าผู้กล้าแห่งสิทธิมนุษยชน ซึ่งเดินทางมาเยือนไต้หวันเพื่อเข้าร่วมการประชุมด้านสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ ซึ่งในจำนวนนี้ ประกอบด้วย นายหลัวก้วนชง และข้วงซ่งฉิง ผู้ชุมนุมในขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของฮ่องกง Ms. Fatou Jallow ผู้นำขบวนการประท้วงภายใต้ชื่อกลุ่ม #MeToo และ Ms. Oleksandra Matviichuk ผู้อำนวยการศูนย์เสรีภาพพลเมือง (องค์การด้านสิทธิมนุษยชน) องค์การด้านสิทธิมนุษยชนสัญชาติยูเครน ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2022 ที่เข้าร่วมผ่านรูปแบบออนไลน์ และ Mr. Badiucao ศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ที่มุ่งมั่นต่อต้านระบอบเผด็จการของจีนอย่างหนักแน่น
รมว.อู๋ฯ ระบุว่า ตามรายงานประจำปี 2021 ของ “มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประชากรร้อยละ 54 จากทั่วโลกต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด – 19 ทำให้กลุ่มประเทศลัทธิอำนาจนิยมฉวยโอกาสในการแผ่ขยายอิทธิพลมากขึ้น รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า หลายปีมานี้ สิทธิมนุษยชนในฮ่องกงนับวันยิ่งถดถอยลง สะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของจีนในการรวบอำนาจ โดยตลอดที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้สร้างแรงกดดันต่อไต้หวันในหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการรุกล้ำดินแดนไต้หวัน และต้องการปิดปากผู้คิดต่างและไม่เห็นด้วยในประชาคมโลก จึงอาจกล่าวได้ว่าระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในระลอกใหม่
นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังเรียกร้องให้เหล่าผู้กล้าซึ่งอยู่ในที่ประชุม มุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และยึดมั่นในหลักการที่จะไม่อ่อนข้อให้ระบอบเผด็จการและความไม่ยุติธรรม กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตยของไต้หวัน ได้มาด้วยการเสียสละของเหล่าวีรบุรุษ ชาวไต้หวันในยุคปัจจุบันจะสืบทอดเจตนารมณ์และความทรหดให้แก่คนรุ่นหลัง เพื่อร่วมยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเข้าร่วมกลไกและกิจกรรมขององค์การระหว่างประเทศที่ผลักดันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนต่อไป โดยรมว.อู๋ฯ ชี้อีกว่า ในปีนี้นอกจาก ไต้หวันจะจัด “การประชุมสัมมนาด้านเสรีภาพทางศาสนาระดับภูมิภาค” แล้ว ยังเป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดการประชุม World Movement for Democracy ที่เพิ่งปิดฉากลงเมื่อช่วงที่ผ่านมา โดยไต้หวันจะยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่พันธมิตรและกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างกระตือรือร้น ซึ่งรวมถึงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวยูเครนซึ่งไร้ที่อยู่อาศัย และให้ความช่วยเหลือองค์การนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders, RWB) ในการจัดตั้ง “ศูนย์เสรีภาพสื่อมวลชน” ในยูเครน เป็นต้น
ในช่วงท้าย รมวอู๋ฯ กล่าวว่า จากความมุ่งมั่นพยายามของกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ตราบจนปัจจุบัน มีองค์การนอกภาครัฐที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติในด้านการผลักดันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เช่น สถาบันส่งเสริมประชาธิปไตย (NDI) ของสหรัฐฯ สถาบันระหว่างประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยม (International Republican Institute, IRI) และองค์กรฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) ทยอยเข้ามาจัดตั้งสำนักงานย่อยในไต้หวัน แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและการยอมรับที่ประชาคมโลกมีต่อไต้หวัน โดยไต้หวันจะมุ่งมั่นในการประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อร่วมปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตยในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกและทั่วโลก ให้คงอยู่สืบไป