New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 9 พ.ย. 65
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ Mr. Greg Hands รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ฝ่ายนโยบายทางการค้าแห่งสหราชอาณาจักร และคณะ โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวย้ำว่า เป้าหมายของพวกเราคือ สร้างการแลกเปลี่ยนที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันในด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ โดยปธน.ไช่ฯ หวังที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นในการกระตุ้นให้เกิดการลงนามความตกลงด้านการลงทุนและการค้าแบบทวิภาคี พร้อมคาดหวังที่จะเห็นอังกฤษเข้าเป็นสมาชิกของ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) อย่างราบรื่น พร้อมทั้งให้การสนับสนุนไต้หวันก้าวสู่การเป็นสมาชิกด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อร่วมส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าในเชิงลึกมากขึ้น และนำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ทั้งสองฝ่าย
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า หลายปีมานี้ ไต้หวัน – อังกฤษ ได้เร่งสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งทางเทคโนโลยี พลังงาน เศรษฐกิจการค้าและเมืองอัจฉริยะ เป็นต้น เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายในยุคหลังโควิด – 19 ไต้หวันยินดีใช้ข้อได้เปรียบในด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ มาให้ความสนับสนุนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทาน พร้อมหวังว่าไต้หวันและอังกฤษที่ถือเป็นพันธมิตรแห่งประชาธิปไตย จะสร้างความร่วมมือทางเทคโนโลยีชั้นสูง มีการลงทุนระหว่างกัน และให้ความสนับสนุนทางการเงิน เพื่อร่วมกันสร้างความทรหดให้แก่ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
โดยปธน.ไช่ฯ ยังชี้อีกว่า “การประชุมเจรจาด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ” ที่จัดขึ้นในปีนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในสถานที่จริง หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เป็นต้นมา เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญๆ แบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน - อังกฤษด้วย
นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังได้แสดงความขอบคุณต่อ รมช. Hands ที่ช่วยผลักดันความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ถือเป็นพลังสนับสนุนต่อไต้หวันที่แข็งแกร่ง สำหรับกรณีที่รัฐบาลอังกฤษเสนอ “แผนผลักดันเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางการค้า ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ” (Enhanced Trade Partnership, ETP) นั้น เราให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายร่วมสร้างความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนร่วมกันภายใต้กรอบ ETP ต่อไป
ปธน.ไช่ฯ ได้ขอบคุณรัฐบาลอังกฤษสำหรับการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศเสมอมาเป็นเวลายาวนาน รวมถึงให้การสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังร่วมแสดงความยินดีกับ Mr. Rishi Sunak นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรที่ขึ้นรับตำแหน่งไปเมื่อช่วงที่ผ่านมา โดยปธน.ไช่ฯ หวังว่า ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลชุดใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ จะได้รับการยกระดับให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบังเกิดผลสัมฤทธิ์ทางความร่วมมือระหว่างกันที่เพิ่มมากขึ้น
จากนั้น รมช. Hands ได้ขึ้นกล่าวปราศรัย โดยแสดงความขอบคุณต่อปธน.ไช่ฯ ที่ให้การต้อนรับด้วยตนเอง พร้อมทั้งร่วมหารือในประเด็นการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1991 เป็นต้นมา รมช. Hands เคยเดินทางมาเยือนไต้หวันหลายครั้งแล้ว แต่รู้สึกว่าในครั้งนี้มีความพิเศษยิ่งกว่าที่ผ่านมา โดยไต้หวัน – อังกฤษ ได้เปิดการเจรจาทางการค้าร่วมกันมาเป็นเวลา 25 ปีแล้ว ในจำนวนนี้ มี 4 ครั้งที่ รมช. Hands ทำหน้าที่เป็นประธาน จึงถือเป็นหลักชัยสำคัญของความสัมพันธ์ทางความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนแบบทวิภาคีระหว่างสองประเทศได้อยู่ในภาวะสุกงอมแล้ว
รมช. Hands ระบุว่า นับตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เป็นต้นมา ตนถือเป็นรัฐมนตรีช่วยของอังกฤษคนแรกที่เดินทางมาเยือนไต้หวัน และเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรก หลังจากที่ได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งในกระทรวงการค้าแห่งอังกฤษด้วย โดยที่ผ่านมา ไต้หวันประสบความสำเร็จในด้านการป้องกันโรคระบาด ท่ามกลางสถานการณ์แห่งความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อน จนเป็นที่ยกย่องชื่นชมจากประชาคมโลก โดย รมช. Hands ยังใช้โอกาสนี้ ขอบคุณที่ไต้หวันได้บริจาคอุปกรณ์การป้องกันโรคระบาดในช่วงเริ่มต้นของสถานการณ์โรคโควิด – 19 ให้อังกฤษเป็นจำนวนมาก
นอกจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างก็ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีความแข็งแกร่งและทรหด พวกเรามีจุดคล้ายคลึงกันในหลายด้าน ตลอดจนร่วมเผชิญหน้ากับความท้าทายที่คล้ายคลึงกันมากมายร่วมกับมิตรประเทศทั่วโลกที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน
ทั้งนี้ Mr. Hands ยังชี้อีกว่า การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 (UNFCCC COP 27) ได้เริ่มเปิดฉากขึ้นในสัปดาห์นี้ ตนได้ประจักษ์ถึงแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (NET-ZERO) ที่ไต้หวันยื่นเสนอเข้ามา ซึ่งมีความสอดคล้องกับโครงการที่รัฐบาลอังกฤษยื่นเสนอเมื่อปีที่แล้ว โดยรัฐบาลอังกฤษก็กำลังมุ่งมั่นในการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ควบคู่ไปกับการเพิ่มความทรหดด้านพลังงาน โดย รมช. Hands คาดหวังที่จะเห็นผลสัมฤทธิ์ที่บังเกิดขึ้นจากแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษยังได้ให้การสนับสนุนไต้หวันสำหรับความมุ่งมั่นในการจัดตั้งฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง โดยอังกฤษมีศักยภาพด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าจากฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งที่ดีที่สุดในทวีปยุโรป
นอกจากนี้ รมช. Hands ยังทราบมาว่า ไต้หวันให้ความสำคัญของการบรรลุเป้าหมาย “นโยบายประเทศสองภาษาก่อนปี 2030” ซึ่งรัฐบาลอังกฤษและกระทรวงศึกษาธิการยังได้ร่วมหารือกันถึงแนวทางนโยบายและโครงสร้างการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง คาดหวังว่า ในช่วงหลายสัปดาห์หลังจากนี้ โครงการนี้จะมีความรุดหน้าไปสู่ขั้นตอนถัดไป
ในช่วงท้าย รมช. Hands ได้แสดงความขอบคุณต่อการต้อนรับอันแสนอบอุ่นจากปธน.ไช่ฯ อีกครั้ง พร้อมคาดหวังที่จะร่วมเจรจาความร่วมมือเชิงลึกในด้านต่างๆ ระหว่างทั้งสองฝ่าย เพื่อร่วมรับมือกับความท้าทายในภายภาคหน้าต่อไป