New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 11 พ.ย. 65
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Ms. Nike Ching หัวหน้าผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ของวิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America, VOA) โดยรมว.อู๋ฯ ได้วิเคราะห์เชิงลึกในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน อาทิ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแทนผู้นำไต้หวัน - สหรัฐฯ ในระหว่างการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ปี 2022 การเสวนาระหว่างผู้นำสหรัฐฯ - จีน ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ภัยคุกคามที่จีนกระทำต่อไต้หวัน และบทบาทของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวัน โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกเผยแพร่ผ่านรายการในหัวข้อ “รมว.กต.ไต้หวันหวังว่าการหารือระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดนและประธานาธิบดีสีจิ้นผิง บังเกิดผลสัมฤทธิ์ในการธำรงรักษาเสถียรภาพระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน” (Taiwan's Foreign Minister: Biden-Xi Meeting Conducive to Taiwan Strait Stability) เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา ตามเวลาในกรุงไทเป ซึ่งหลังจากที่บทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่ ก็ได้รับความสนใจและเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาคมโลก
โดยการประชุมเอเปคในปีนี้ เตรียมเปิดฉากขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร รมว.อู๋ฯ ระบุว่า การประชุมเอเปคเป็นเวทีที่สร้างโอกาสการเจรจาหารือระหว่างผู้นำและตัวแทนของประเทศสมาชิก ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยไต้หวันมีความยินดีและมุ่งมั่นที่จะร่วมแลกเปลี่ยนกับนานาประเทศทั่วโลกเสมอมา ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งไต้หวัน - สหรัฐฯ ต่างก็ประสบความสำเร็จในการเจรจาหารือในเวทีการประชุมเอเปคอยู่บ่อยครั้ง โดยในปีนี้ เราหวังที่จะเห็นดร.จางจงโหมว ผู้ก่อตั้งบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้นำไต้หวัน ร่วมสร้างปฏิสัมพันธ์ในเชิงลึกกับ Ms. Kamala Harris รองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้นำสหรัฐฯ รวมไปถึงเหล่าผู้นำจากนานาประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า หัวข้อหลักของการประชุมเอเปคในปีนี้คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” (Open. Connect. Balance) ซึ่งไต้หวันพร้อมแล้วที่จะมุ่งมั่นดำเนินภารกิจไปพร้อมกับประเทศสมาชิกทั่วโลกหลังยุคโควิด – 19 เพื่อสร้างคุณประโยชน์ด้านการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก อย่างต่อเนื่องต่อไป โดยไต้หวันมีบทบาทสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ปริมาณการผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ครองสัดส่วนทั่วโลกร้อยละ 62 อีกทั้งแผ่นชิปวงจรรวมทันสมัยที่ผลิตโดยไต้หวัน ครองสัดส่วนทั่วโลกกว่าร้อยละ 92 เราจึงยินดีที่จะประสานความร่วมมือกับหุ้นส่วนในภูมิภาค เพื่อร่วมสรรค์สร้างห่วงโซ่อุปทานแห่งอุตสาหกรรม “แผ่นชิปวงจรรวมรูปแบบประชาธิปไตย” ที่มีความมั่นคง ยั่งยืน เชื่อถือได้และเปี่ยมด้วยความทรหด
ต่อกรณีที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ผู้นำสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเปิดฉากการเจรจาหารือระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G20 รวมถึงผลกระทบที่อาจส่งผลต่อสถานการณ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน รมว.อู๋ฯ เผยว่า จีนอาศัยหลักการ “จีนเดียว” และ “1 ประเทศ 2 ระบบ” เป็นเงื่อนไขในการเปิดการเจรจาระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน หลายปีมานี้ รัฐบาลจีนยกระดับความรุนแรงในการซ้อมรบบนพื้นที่รอบน่านน้ำไต้หวัน และเพิ่มความถี่ในการข่มขู่ไต้หวันด้วยกำลังทหาร ซึ่งประชาคมโลกล้วนให้ความสนใจต่อสถานการณ์ล่าสุดระหว่างสองฝั่งช่องแคบและสันติภาพในภูมิภาค รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า หากปธน.โจ ไบเดน แสดงจุดยืนในการร่วมแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวันและกล่าวถึงประเด็นการทำลายสถานภาพเดิมในระหว่างการเจรจากับปธน.สีฯ เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการธำรงรักษาความมั่นคงในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน รวมถึงสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ให้คงอยู่ต่อไป
ต่อกรณีที่ Mr. Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ แสดงความห่วงใยต่อประเด็นที่สถานภาพเดิมระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันถูกเปลี่ยนแปลงโดยความประสงค์จากจีนเพียงฝ่ายเดียว พร้อมแจ้งเตือนว่าจีนอาจจะร่นกำหนดการที่จะรุกรานไต้หวันให้เร็วยิ่งขึ้น รมว.อู๋ฯ ตอบว่า ภัยคุกคามที่จีนกระทำต่อไต้หวันด้วยการใช้กำลังอาวุธ ทวีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้นในทุกวัน ประชาชนชาวไต้หวันตระหนักดีถึงภาวะฉุกเฉินเร่งด่วนที่เกิดจากภัยคุกคามจากจีน เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความท้าทายข้างต้น ไต้หวันได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมตระหนักว่า การธำรงรักษาสถานภาพเดิมระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน สอดคล้องต่อผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย โดยไต้หวันจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างหลักประกันด้านสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวันให้คงอยู่สืบไป
รมว.อู๋ฯ วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า นอกจากจีนจะประกาศอย่างเปิดเผยในเวทีนานาชาติหลายต่อหลายครั้งว่า จะไม่ล้มเลิกการใช้อาวุธในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน พร้อมทั้งยังจัดเตรียมความพร้อมด้านกลาโหมอย่างกระตือรือร้น ซึ่งตลอดช่วงที่ผ่านมา จีนได้ขยายผลกระทบไปสู่ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นที่ทราบกันในนาม “ยุทธศาสตร์เส้นรอยต่อสร้อยไข่มุก (string of pearls)” ซึ่งพฤติกรรมการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลกอย่างแจ่มแจ้ง ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกจึงควรที่จะประสานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการเสริมสร้างความร่วมมือ เพื่อสกัดกั้นความทะเยอทะยานและความพยายามในการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป