New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 11 พ.ย. 65
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งรัฐสภาสาธารณรัฐสโลวัก ได้ผ่านญัตติว่าด้วยการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยรัฐสภาสโลวักได้แสดงความสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ในระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 (UNFCCC COP 27) ที่กำลังจัดขึ้นในประเทศอิยิปต์ ณ ขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกยินดีและขอขอบคุณด้วยใจจริง
สาระสำคัญของญัตติข้างต้น ระบุว่า ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงจำเป็นต้องอาศัยความมุ่งมั่นและความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน นอกจากรัฐสภาสโลวักจะเห็นด้วยกับแผนปฏิบัติการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (NET-ZERO) ภายในปี 2050 เพื่อรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลกที่ยื่นเสนอโดยไต้หวันแล้ว ยังตระหนักว่าไต้หวันถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบในกลไกที่เกี่ยวข้องกับ UNFCCC ส่งผลให้ไต้หวันไม่สามารถร่วมแบ่งปันทรัพยากร ความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์อันล้ำค่ากับนานาประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ เพื่อร่วมบรรลุวิสัยทัศน์ด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในระดับสากล คณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งรัฐสภาสโลวัก จึงให้การสนับสนุนความเชี่ยวชาญ การลงมือปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม และการเข้าร่วมใน UNFCCC อย่างมีความหมายของไต้หวันอย่างเต็มกำลัง
ในปี 2022 คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ กิจการยุโรปและคณะกรรมาธิการสาธารณสุขแห่งรัฐสภาสโลวัก ได้ทยอยผ่านญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน ว่าด้วยการสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) รวมทั้งหมด 4 ฉบับ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนอันแข็งแกร่งระหว่างไต้หวัน - สโลวัก ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานค่านิยมด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยไต้หวันจะประสานความร่วมมือไปพร้อมกับประชาคมโลก เพื่อบรรลุแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมาย NET-ZERO เพื่อสร้างหลักประกันให้ประชาชนทุกยุคสมัยมีสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน พร้อมคาดหวังที่จะเห็นประชาคมโลกให้การยอมรับต่อผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากความมุ่งมั่นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมในระบบ UNFCCC รวมไปถึงการเข้าสู่กระบวนการเจรจา “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) อย่างกระตือรือร้น ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันสร้างคุณประโยชน์ที่มากขึ้นในด้านการบรรลุเป้าหมาย NET – ZERO ต่อไป