New Southbound Policy Portal
คณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันที่ 7 พ.ย. 65
ปีนี้ถือเป็นปีแห่งอวกาศปีแรกของไต้หวัน โดยดาวเทียม Triton (Formosat-7R) ซึ่งเป็นดาวเทียมพยากรณ์อากาศดวงแรกที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์อวกาศแห่งชาติไต้หวัน (National Space Organization, NSPO) ของสถาบันวิจัยประยุกต์แห่งชาติไต้หวัน (National Applied Research Laboratories, NARLabs) คณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เตรียมเข้าสู่ขั้นสุดท้ายของ “การทดสอบการทำงานเต็มรูปแบบ” แล้ว โดยในวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา นายซูเจินชาง นายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางไปยังศูนย์อวกาศแห่งชาติ เพื่อเข้าตรวจการณ์ความพร้อมในภาพรวม พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ทุกคน ซึ่งนรม.ซูฯ แถลงว่า รัฐบาลจะมุ่งมั่นให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมอวกาศอย่างเต็มกำลัง โดยหวังว่าดาวเทียม Triton จะเป็นตัวนำในการพาอุตสาหกรรมของไต้หวันให้ทะยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศ
นรม.ซูฯ ย้ำว่า ความสำเร็จของเทคโนโลยีในการนำจรวดกลับมาใช้ใหม่ของ Space X และโครงการ Starlink เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมอวกาศทั่วโลก ซึ่งเทคโนโลยีอวกาศของไต้หวันมีข้อได้เปรียบจากประสบการณ์ในการพัฒนาและผลิตดาวเทียมมานานนับ 30 ปี และความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนของภาคอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง เพื่อนำภาคอุตสาหกรรมของไต้หวันเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมทั่วโลก เพื่อสร้าง “ขุนเขาพิทักษ์ไต้หวันแห่งที่ 2” ซึ่งดาวเทียม Triton ถือเป็นผลผลิตของอุตสาหกรรมอวกาศไต้หวันที่ถือเป็นหัวหอกในการรุกเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ จึงหวังว่าการปล่อยดาวเทียม Triton ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ จะเป็นไปอย่างราบรื่น และนำพาอุตสาหกรรมอวกาศไต้หวันไปสู่ศักราชใหม่ต่อไป
นายอู๋เจิ้งจง ประธานคณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ดาวเทียม Triton เป็นโครงการที่สืบทอดประสบการณ์จากดาวเทียม Formosat 5 ซึ่งได้ทำการยกระดับสัดส่วนการผลิตด้วยตนเองเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 82 หลังจากการปล่อยขึ้นสู่อวกาศแล้ว ก็จะเป็นบทพิสูจน์ของการทดสอบชิ้นส่วนองค์ประกอบและเทคโนโลยีที่ไต้หวันผลิตและพัฒนาด้วยตนเอง รวม 10 รายการ ด้วยเหตุนี้ นอกจากดาวเทียม Triton จะต้องบรรลุภารกิจการพยากรณ์อากาศแล้ว ยังต้องมีภารกิจในการพิชิต “ใบอนุญาตปฏิบัติการด้านการบิน” ของเทคโนโลยีอวกาศในรูปแบบต่างๆ จึงถือได้ว่า ดาวเทียม Triton เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมอวกาศไต้หวันให้มุ่งสู่เวทีนานาชาติด้วย
นายอู๋จงซิ่น ผู้อำนวยการศูนย์อวกาศแห่งชาติ ชี้ว่า อุปกรณ์ที่จรวดบรรทุกดาวเทียม Triton นำขึ้นไปนั้น เป็น “เครื่องรับสัญญาณของระบบนำทางด้วยดาวเทียม” (GNSS-R) ซึ่งสามารถเก็บรวบรวมสัญญาณดาวเทียมนำทางที่สะท้อนขึ้นมาจากพื้นผิวมหาสมุทร ในวงโคจรต่ำของโลก เพื่ออาศัยคุณสมบัติทางชีวภาพของการส่งสะท้อนสัญญาณ ในการคำนวณทิศทางความเร็วของลม จึงสามารถใช้อ้างอิงเชิงสถิติในการคาดการณ์สถานการณ์พายุไต้ฝุ่น เพื่อยกระดับความแม่นยำของการคาดการณ์ล่วงหน้าต่อไป