New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 16 พ.ย. 65
“การประชุมเชิงยุทธศาสตร์ของกลุ่มสมาชิกรัฐสภาไต้หวัน - สหรัฐฯ – ญี่ปุ่น” ครั้งที่ 2 ถูกจัดขึ้นผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์อย่างราบรื่น เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งบังเกิดผลสัมฤทธิ์มากมาย โดยเหล่าสมาชิกรัฐสภาจากไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ล้วนให้การสนับสนุนเป็นเสียงเดียวกันในการเน้นย้ำว่า กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันควรเร่งเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคง เพื่อสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ พร้อมนี้ ยังได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกให้ความสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพในสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณด้วยใจจริง
การประชุมนี้ริเริ่มโดย Mr. Keiji Furuya สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประธาน “สหภาพรัฐสภาแบบข้ามพรรคของญี่ปุ่น” (Nikka Giin Kondankai) และเป็นหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรไต้หวันที่รวมตัวจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกของรัฐสภาญี่ปุ่น หลังจากที่ได้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 การประชุมในครั้งนี้ถูกจัดขึ้นอีกครั้งโดยรัฐบาลญี่ปุ่น พร้อมทั้งได้เชิญนายโหยวสีคุณ ประธานสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวัน - ญี่ปุ่นแห่งสภานิติบัญญัติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พร้อมด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติจากทุกพรรค เข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ H.R. Herbert R. McMaster อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงประจำทำเนียบขาวสหรัฐฯ ได้เข้าร่วมกล่าวปราศรัยในฐานะแขกกิตติมศักดิ์ ผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้า โดยได้เรียกร้องให้ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น รวมถึงกลุ่มประเทศที่ยึดมั่นในค่านิยมพื้นฐานเดียวกัน ควรสร้างความร่วมมือควบคู่ไปกับการยกระดับแสนยานุภาพในการสกัดกั้นการรุกราน เมื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามด้านการเมืองและเศรษฐกิจจากจีน เพื่อรับมือต่อกรณีที่จีนเลือกใช้กำลังทหารในการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อสร้างหลักประกันด้านสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคให้คงอยู่สืบไป
โดยการประชุมในครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การอภิปรายหารือในประเด็นสำคัญๆ อาทิ “เจาะลึกเสถียรภาพของระบบห่วงโซ่อุปทาน ผ่านมุมมองการเลือกที่ตั้งสถานประกอบการ” “กรณีศึกษาสถานการณ์จำลองหลังจีนปิดน่านฟ้า” โดยทุกฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึกผ่านการประชุมในครั้งนี้ โดยเฉพาะ “การเลือกทำธุรกิจเฉพาะกับประเทศที่เป็นมิตรทางการเมือง” (Friend-Shoring) โดยมุ่งเน้นความสำคัญไปที่การจัดตั้งระบบห่วงโซ่อุปทานในกลุ่มมิตรประเทศที่สามารถเชื่อถือได้ นอกจากนี้ แขกรับเชิญที่เข้าร่วมงานต่างก็เห็นด้วยที่ทั้งไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น จะร่วมจัดตั้งช่องทางการหารือพูดคุยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันด้านความมั่นคงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับมือกับภัยฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งร่วมเรียกร้องให้เห็นถึงความจำเป็นในการตอบรับให้ไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งใน “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP)
“การประชุมเชิงยุทธศาสตร์ของกลุ่มสมาชิกรัฐสภา ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ - ญี่ปุ่น” เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตทางรัฐสภาแบบสามฝ่าย ระหว่างไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่าง ไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งกต.ไต้หวันหวังที่จะส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์อันดีของกลุ่มรัฐสภาแบบสามฝ่ายระหว่างไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ผ่านการประชุมนี้ ตลอดจนสร้างความร่วมมือแบบหุ้นส่วนในเชิงลึกระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศประชาธิปไตยต่อไป