New Southbound Policy Portal

กรอบความร่วมมือ GCTF จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติขึ้นที่อิสราเอลเป็นครั้งแรก ภายใต้หัวข้อ “โอกาสและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัล”

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 22 พ.ย. 65
 
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา สำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันประจำอิสราเอล สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอิสราเอล และ “ศูนย์สหวิทยาการวิจัยเพื่อความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (The Tel Aviv University) ของอิสราเอล” (Blavatnik Interdisciplinary Cyber Research Center, ICRC) ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ในหัวข้อ “โอกาสและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัล” (2022 GCTF Workshop on Opportunities and Outlooks Under the Trend of Digital Economy) ในรูปแบบไฮบริด ทั้งการประชุมในสถานที่จริงและรูปแบบออนไลน์ ซึ่งนี่เป็นการประชุมนานาชาติที่ GCTF จัดขึ้นในพื้นที่ภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นครั้งแรก
 
โดยเป้าหมายของการประชุม คือ อภิปรายหารือในประเด็นความท้าทายและการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจในยุคดิจิทัล โดยมุ่งเน้นไปในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแผนโซลูชันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและความทรหดของระบบห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของไต้หวัน สหรัฐฯ และอิสราเอล รวมไปถึงข้อได้เปรียบทางอุตสาหกรรม โดยพิธีเปิดการประชุมในครั้งนี้ มีนางหลี่หย่าผิง ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำอิสราเอล Ms. Stephanie Hallett อัครราชทูตแห่งสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอิสราเอล และ Ms. Gili Drob-Heistein ประธานคณะกรรมการบริหาร ICRC ร่วมทำหน้าที่เป็นประธาน พร้อมทั้งเชิญนายหลินจวิ้นซิ่ว รองผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรม กระทรวงการพัฒนาทางดิจิทัล Mr. Mark Cullinane ผู้อำนวยการสำนักงานประสานกิจการแบบทวิภาคีและระดับภูมิภาค กรมปริภูมิไซเบอร์และนโยบายด้านดิจิทัล (Cyberspace and Digital Policy Bureau) ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และพลตรี Isaac Ben-Israel ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบัน ICRC เข้าร่วมแสดงปาฐกถา นอกจากนี้ ดร.หูจู๋เซิง รองประธานคณะกรรมการบริหารระดับอาวุโสของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม (ITRI) ของไต้หวัน และ ศ.ดร. หลินอิ๋งต๋า จากมหาวิทยาลัยหยางหมิงเจียวทง (National Yang Ming Chiao Tung University, NYCU) ต่างก็ได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยาย นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรมและหน่วยงานวิชาการเชิงการวิจัยของอิสราเอล มาเข้าร่วมเสวนาในการประชุมครั้งนี้ด้วย บรรยากาศในการประชุมเป็นไปอย่างคึกคัก และทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากมาย
 
กรอบความร่วมมือ GCTF ร่วมจัดขึ้นโดยไต้หวัน - สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2015 ได้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติขึ้นแล้วรวม 55 รอบ ในประเด็นและความท้าทายเกิดใหม่ 10 กว่ารายการตลอด 7 ปีกว่าที่ผ่านมา ตราบจนปัจจุบัน มีตัวแทนเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนจากภาคประชาชนกว่า 6,000 คนจาก 100 กว่าประเทศทั่วโลก เข้าร่วมในโครงการฝึกอบรมภายใต้กรอบ GCTF ทั้งในรูปแบบสถานที่จริงและรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจำนวนผู้เข้าร่วมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขอบเขตสารัตถะของการอภิปรายก็แผ่ขยายออกไปในเชิงกว้างด้วยเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่า กรอบ GCTF เป็นแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งส่งเสริมให้กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสำคัญๆ ระหว่างกัน ตลอดจนให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งและบ่มเพาะศักยภาพในการรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ แก่กลุ่มประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยในอนาคต ประเทศสมาชิกทั้ง 4 ของ GCTF ได้แก่ ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย รวมถึงกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน จะยังคงร่วมอุทิศคุณประโยชน์ในประเด็นสำคัญ ที่ทั่วโลกประสบกับความท้าทายรูปแบบเดียวกัน ภายใต้กรอบ GCTF อย่างต่อเนื่องต่อไป