New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 24 พ.ย. 65
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Pierre-Antoine Donnet ผู้สื่อข่าวจากนิตยสาร Politique Internationale (การเมืองระหว่างประเทศ) ของฝรั่งเศส ที่เคยเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการสำนักข่าวเอเอฟพี (Agence France-Press) แห่งฝรั่งเศส โดยรมว.อู๋ฯ ได้ชี้ถึงความมุ่งมั่นในการป้องกันประเทศของไต้หวัน และความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนไปสู่ทั่วโลก พร้อมทั้งเรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรด้านประชาธิปไตย ร่วมจับมือสกัดกั้นความทะเยอทะยานของจีนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของสองฝั่งช่องแคบไต้หวันในปัจจุบัน โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ ได้ถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสารฉบับฤดูใบไม้ร่วง เดือนพ.ย. ในหัวข้อ “ช่วงเวลาที่สำคัญของไต้หวัน” (Veillée d'armes à Taïwan) ซึ่งได้รับความสนใจในวงกว้างจากทั้งฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ไต้หวันสามารถเห็นตัวอย่างจากความพลิกผันของสถานการณ์ในฮ่องกง โดยตลอดที่ผ่านมา ฮ่องกงถือเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีนิยมเสมอมา แต่ต้องได้รับผลกระทบอย่ารุนแรงจากการที่รัฐบาลปักกิ่งได้ออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2020 เป็นต้นมา ที่ได้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนชาวฮ่องกง ซึ่งหลายคนคาดการณ์ว่า ไต้หวันอาจเป็นเป้าหมายต่อไปของจีน หลังจากที่รัสเซียบุกโจมตียูเครนในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ประกอบกับจีนได้ใช้ข้ออ้างจากการที่นางแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน มาทำการซ้อมรบเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่รอบน่านน้ำไต้หวัน หลายคนจึงเกิดความวิตกกังวลว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่จีนจะรุกรานไต้หวันได้ทุกเมื่อ
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่จีนจะเข้ารุกล้ำดินแดนไต้หวัน แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลและประชาชนชาวไต้หวัน ต่างก็มุ่งมั่นปกป้องอำนาจอธิปไตยและวิถีชีวิตแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างหนักแน่น โดยไต้หวันจะเตรียมการให้พร้อม ด้วยการตระเตรียมกำลังพล ควบคู่ไปกับการยกระดับแสนยานุภาพด้านกลาโหมที่ขาดความสมดุล เพื่อมุ่งมั่นปกป้องความมั่นคงของชาติ ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตย เพื่อแสวงหาพลังสนับสนุนจากประชาคมโลกต่อไป
รมว.อู๋ฯ หยิบยกกรณีตัวอย่างของนานาประเทศทั่วโลก ที่ล้วนแสดงจุดยืนให้การสนับสนุนไต้หวัน อาทิ ไต้หวัน - ญี่ปุ่น ได้มีการประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในประเด็นการต่อต้านข่าวปลอม การรักษาความมั่นคงในพื้นที่น่านน้ำ และการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ Ms. Liz Truss อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร แถลงว่า องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือและสหภาพยุโรป ควรสร้างหลักประกันด้านศักยภาพการป้องกันประเทศให้แก่ไต้หวัน อีกทั้งรัฐบาลออสเตรเลีย แคนาดา เช็กเกียและลิทัวเนีย ต่างก็ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่น การประชุมสุดยอดผู้นำองค์การป้องกันสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนําของโลก 7 ชาติ (Group of Seven, G7) และรัฐบาลฝรั่งเศส ต่างก็มีการหารือในประเด็นสันติภาพและเสถียรภาพของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน รมว.อู๋ฯ เชื่อว่าจากการร่วมแสดงความห่วงใยและการประสานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมจากประชาคมโลก จะสามารถช่วยสกัดกั้นความทะเยอทะยานของจีน ที่จะเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในสองฝั่งช่องแคบไต้หวันในปัจจุบัน ตลอดจนร่วมธำรงรักษาสันติภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน รวมถึงเสรีภาพ การเปิดกว้างและความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกต่อไป
ต่อกรณีความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศพันธมิตร รวมถึงสหรัฐฯ รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า เหล่าประเทศพันธมิตรได้ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันบนเวทีนานาชาติอยู่บ่อยครั้งนี้ ประกอบด้วย องค์การอนามัยโลก (WHO) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และองค์การการบินพลเรือน (ICAO) ซึ่งมีส่วนช่วยในการขยายพื้นที่บนเวทีนานาชาติของไต้หวัน ชาวไต้หวันรู้สึกขอบคุณและซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ทั้งไต้หวัน - สหรัฐฯ ต่างประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในหลายด้าน อาทิ ด้านความมั่นคง การแลกเปลี่ยนข้อมูล การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และบ่มเพาะบุคลากรระหว่างกัน ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะจัดส่งกองทัพทหารเข้าประจำการในไต้หวันหรือไม่การปกป้องประเทศชาติก็ยังคงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงของพวกเรา ซึ่งไต้หวันจะเตรียมการรับมือให้พร้อมสำหรับสงครามที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้าต่อไป
นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้เตือนประชาคมโลกด้วยว่า ความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน มิได้จำกัดเฉพาะต่อไต้หวันเท่านั้น แต่จีนยังได้ลงนามความตกลงทางความร่วมมือกับหมู่เกาะโซโลมอน เพื่อขยายขอบเขตอิทธิพลไปสู่พื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งยังขยายอิทธิพลไปสู่ประเทศในมหาสมุทรอินเดีย เช่น เมียนมา ปากีสถาน ศรีลังกา และสาธารณรัฐจิบูตี ผ่านโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เพราะฉะนั้นจึงจะเห็นได้ว่า การควบคุมไต้หวันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เนื่องจากไต้หวันตั้งอยู่บนเส้นทางผ่านของการแผ่ขยายอิทธิพลอำนาจเผด็จการของปักกิ่งไปสู่ทั่วโลก