New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 1 ธ.ค. 65
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. คณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งรัฐสภายุโรปได้มีมติผ่านรายงานผลการดำเนินงานตาม “นโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกันประจำปี” (CFSP) และ “นโยบายความมั่นคงและการป้องกันประเทศ” (CSDP) โดยเน้นย้ำว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในสหภาพยุโรป และเป็นพันธมิตรด้านประชาธิปไตยในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก จึงได้เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปและผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายความมั่นคงและการต่างประเทศของสหภาพยุโรป ร่วมจัดตั้งกลไกความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับไต้หวัน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมและการเมือง ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูง พร้อมทั้งเปิดการเจรจาเพื่อลงนามความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุนระหว่างไต้หวัน – EU (EU-Taiwan Bilateral Investment Agreement, BIA) โดยเร็ว ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานที่เปี่ยมด้วยความทรหด ตลอดจนร่วมสกัดกั้นข่าวปลอมและการก่อกวนจากภายนอก เป็นต้น เพื่อมุ่งสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนที่ครอบคลุมและแข็งแกร่ง นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภายุโรป ยังได้เรียกร้องให้ EU และประเทศสมาชิก ร่วมเสริมสร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนระหว่างประเทศ เพื่อรักษาค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ รวมไปถึงการเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศของไต้หวัน พร้อมทั้งร่วมประณามจีนที่ท้าทายทางทหารต่อไต้หวันอย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำจุดยืนว่าด้วยการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวันด้วยความเห็นชอบเพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งเรียกร้องให้จีนยุติการกระทำใดๆ ที่เป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพในภูมิภาค รวมไปถึงแนวทางที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคยุโรป
ญัตติ CFSP และ CSDP แสดงให้เห็นถึงพลังสนับสนุนอันแข็งแกร่งที่คณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งรัฐสภายุโรปมีต่อประชาธิปไตยและเสรีภาพของไต้หวัน ซึ่งมีนัยยะสำคัญต่อรัฐบาลและประชาชนชาวไต้หวันเป็นอย่างมาก กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกยินดีและขอขอบคุณด้วยใจจริง
ในทุกปี รัฐสภายุโรปจะเสนอคำชี้แนะโดยภาพรวม ต่อการดำเนินงานตามนโยบาย CFSP และ CSDP ของสหภาพยุโรป และรวบรวมเป็นญัตติ โดยมีเจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการการต่างประเทศเป็นผู้ร่างเสนอ หลังผ่านมติในที่ประชุมแล้ว จึงจะส่งต่อไปยังที่ประชุมรัฐสภายุโรปในเมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg) โดยมีสมาชิกรัฐสภายุโรปเป็นผู้ร่วมลงมติ กต.ไต้หวันคาดหวังที่จะเห็นรายงาน 2 ฉบับข้างต้นและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน สามารถผ่านมติที่ประชุมรัฐสภายุโรปในเมืองสตราสบูร์ก ที่เตรียมเปิดฉากขึ้นในเดือนม.ค.ปี 2023 อย่างราบรื่น เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนในด้านต่างๆ แบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน – EU ในเชิงลึกเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วน ภายใต้พื้นฐานค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ ระหว่างไต้หวัน – EU ในเชิงลึกต่อไป