New Southbound Policy Portal
เราจะเห็นทิวทัศน์นอกหน้าต่างที่แตกต่างกันไปตามสภาพของเขตอากาศในระหว่างโดยสารรถไฟขึ้นเขาอาลีซาน
ภาพที่เคยคิดว่าต้องย้อนเวลากลับไปสู่อดีตจึงจะมีโอกาสได้เห็นกลับมาปรากฏขึ้นอีกครั้งที่ภูเขาอาลีซาน ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 2021 สำนักงานบริหารทรัพยากรทางวัฒนธรรมและทางรถไฟสายป่าแห่งภูเขาอาลีซานของกรมป่าไม้ (เรียกโดยย่อว่า “สำนักงานรถไฟป่า”) ได้ร่วมมือกับสำนักงานบริหารป่าไม้เขตเจียอี้ ในการนำหัวรถจักรไอน้ำรุ่น SL-31 ซึ่งมีอายุมากถึง 105 ปี ออกมาวิ่งบนเส้นทางย่อยสายสุ่ยซาน เพื่อขนถ่ายไม้ที่ถูกตัดเพื่อขยายระยะของต้นไม้ในการปลูกป่า ทำให้ภาพการลำเลียงไม้ซุงเมื่อ 100 กว่าปีก่อนกลับมาปรากฏให้เราได้เห็นกันอีกครั้ง
ปัจจุบัน (ค.ศ. 2022) ทางรถไฟสำหรับการทำป่าไม้สายอาลีซานมีอายุ 110 ปีแล้ว โดยเส้นทางสายนี้เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1906 ก่อนจะเริ่มทำการขนถ่ายไม้ลงจากภูเขาเป็นครั้งแรกในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1912 ทางรถไฟสำหรับการทำป่าไม้เปรียบเสมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิต ที่ทำให้เมืองเจียอี้มีพัฒนาการมากขึ้น และเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ช่วยเพิ่ม GDP ของประเทศ ในปี ค.ศ. 1914 โรงเลื่อยเจียอี้เริ่มเปิดดำเนินการ และมีหน้าที่สำคัญในการแปรรูปท่อนไม้ที่ถูกส่งลงมา จากข้อมูลในปี ค.ศ. 1935 ประชากรเจียอี้ ทุก 10 คนจะมี 1 คนที่ทำงานเกี่ยวกับการทำป่าไม้ จนทำให้ที่นี่ถูกขนานนามว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งป่าไม้” ไปโดยปริยาย
ในปี ค.ศ. 2018 สภาบริหารของไต้หวัน (หน่วยงานที่เทียบเท่ากับคณะรัฐมนตรี) ได้มีมติให้ก่อตั้ง “สำนักงานบริหารทรัพยากรทางวัฒนธรรมและทางรถไฟสายป่าแห่งภูเขาอาลีซาน” ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานเฉพาะสำหรับการบริหารจัดการเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมเกี่ยวกับรถไฟและการทำป่าไม้ให้เป็น “ทิวทัศน์ทางวัฒนธรรม” โดยในปี ค.ศ. 2019 กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันได้ประกาศให้ “ทางรถไฟและการทำป่าไม้แห่งภูเขาอาลีซาน” เป็นทิวทัศน์ทางวัฒนธรรมซึ่งมีความสำคัญระดับประเทศเป็นแห่งแรก ทำให้เราได้มีโอกาสพบกับเส้นทางที่คงอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ความทรงจำของผู้คนทั่วไป
สถานีรถไฟเป่ยเหมินที่ดูแล้วมีความคลาสสิกแบบเรียบง่าย เป็นประจักษ์พยานที่สำคัญในความรุ่งเรืองและซบเซาของประวัติศาสตร์แห่งอุตสาหกรรมป่าไม้ของอาลีซาน
ในวันที่มีการนัดสัมภาษณ์ อากาศสดชื่นแจ่มใส เราขึ้นรถไฟเล็กสายอาลีซานที่สถานีเป่ยเหมิน (北門) ในเจียอี้ โดยมีจุดหมายที่สถานีสือจื้อลู่ (十字路) ตลอดการเดินทางมี อ.อู่หวีเหยา (伍于堯) ซึ่งมักจะถูกเรียกว่า “เฮียเสียวอู่” ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ อ.อู่ฯ เติบโตมาในยุคที่หัวรถจักรไอน้ำกำลังจะถูกปลดระวาง เสียงหวูดรถไฟถือเป็นความทรงจำในวัยเด็กของเขา และการวิ่งไล่ตามรถไฟก็ถือเป็นความประทับใจในวัยหนุ่ม
“ทางรถไฟสายป่าไม้ถือเป็นเส้นทางที่สุดยอดมาก ๆ” เฮียเสียวอู่กล่าว ในตอนนั้น มันต้องวิ่งจากจุดที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 30 เมตรแล้วไต่ระดับขึ้นไปจนถึง 2,000 เมตรที่สถานีเอ้อวั่นผิง (二萬平) ระหว่างทางต้องวิ่งผ่านโซนอากาศเขตร้อน กึ่งเขตร้อน และเขตอบอุ่น ทิวทัศน์นอกหน้าต่างก็เริ่มต้นจากภาพของต้นไม้ในเขตร้อน เช่น ต้นลำไย ต้นหมาก ผ่านไร่ชา ป่าไผ่ แล้วเข้าสู่โลกของป่าสน และป่าฮิโนกิ แม้ทิวทัศน์ของต้นไม้ที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยความมีชีวิตชีวา
เมื่อรถไฟวิ่งผ่านสถานีจู๋ฉี (竹崎) ก็จะเริ่มวิ่งขึ้นเนิน ช่วงระหว่างทางจะมีหลายครั้งที่ต้องเลี้ยวโค้งแบบ 180 องศา เฮียเสียวอู่บอกให้เรามองออกไปนอกหน้าต่าง จะสามารถมองเห็นขบวนรถไฟที่โค้งเป็นรูปตัว U และจะได้เห็นภาพแปลกตาที่หัวรถไฟวิ่งไปทักทายกับหางขบวน
เส้นทางในช่วงระหว่างสถานีผิงเจอหน้า (屏遮那) กับสถานีเจาผิง (沼平) มีอยู่หลายครั้งที่ขบวนรถต้องใช้วิธีการวิ่งแบบปีนบันไดเป็นรูปตัว Z ซึ่งต้องปล่อยให้ขบวนรถวิ่งให้เลยทางโค้งหักศอกไปก่อนแล้วค่อยเดินรถย้อนกลับ เพราะพื้นที่เรียบบนภูเขาไม่เพียงพอสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟแบบปกติ และต้องการลดความชันของทางรถไฟไปพร้อมกัน
ปลายทางของรถไฟเล็กอยู่ที่สถานีสือจื้อลู่ (十字路) ซึ่งขณะนี้รถไฟสายป่าไม้จะวิ่งมาได้ไกลที่สุดถึงที่นี่เท่านั้น เนื่องจากอุโมงค์รถไฟหมายเลข 42 ที่อยู่ข้างหน้าได้รับความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นตู้จวน และยังซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ คาดว่ากว่าจะสามารถเปิดวิ่งได้ตลอดทั้งสาย ก็ต้องรอไปจนถึงปี ค.ศ. 2023 เลยทีเดียว
การปรากฏตัวอีกครั้งของกลุ่มอาคารแห่งโรงเลื่อย
เมื่อลงจากเขากลับไปถึงด้านล่าง เราได้ไปเยือน “โรงเลื่อยเจียอี้” ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานีเป่ยเหมิน โรงเลื่อยแห่งนี้ถูกยกย่องว่าเป็นโรงเลื่อยที่มีความทันสมัยมากที่สุดของญี่ปุ่นในขณะนั้น อ. โหลวเฉิงกั๋ว (婁成國) ไกด์ของเราอธิบายให้ทราบว่า ภายในเขตอุทยานโรงเลื่อยประกอบไปด้วย โรงเลื่อย ห้องไฟฟ้า ห้องขี้เลื่อย และห้องอบแห้ง ท่อนไม้ที่ถูกขนถ่ายลงมาจากบนเขา จะถูกส่งมาแปรรูปในโรงเลื่อย ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมป่าไม้ในเจียอี้ อ.โหลวเฉิงกั๋ว เล่าว่า เครนเหนือศีรษะที่ใช้ยกท่อนไม้ในตอนนั้น มีความสูงถึง 20 เมตร คอยทำหน้าที่ขนถ่ายท่อนไม้เข้าไปทำการแปรรูปในโรงงาน
หลังจบการเดินทางตามรอยท่อนไม้ในครั้งนี้ เราได้นึกย้อนกลับไปว่า เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ด้วยเทคโนโลยีและแรงงานในสมัยนั้น แต่สามารถสร้างทางรถไฟที่วิ่งขึ้นไปบนความสูงกว่า 2,000 เมตร และสามารถคงอยู่ได้จนทุกวันนี้ ช่างเป็นอะไรที่ไม่ง่ายเลย
พื้นที่ในโรงเลื่อยเจียอี้ ได้รับการซ่อมแซมและเก็บรักษาไว้ พร้อมขึ้นทะเบียนเป็นอาคารทางประวัติศาสตร์ ทำให้เราสามารถมองเห็นภาพความรุ่งเรืองเมื่อวันวานได้บนสถานที่จริง
ความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมป่าไม้ในเจียอี้ มีจุดเริ่มจากปี ค.ศ. 1899 ซึ่งญี่ปุ่นค้นพบว่า บริเวณภูเขาอาลีซานมีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ จึงได้ดำเนินการตามคำแนะนำของ ดร. ชิทาโร่ คาวาอิ (Shitaro Kawai) ในการก่อสร้างทางรถไฟขึ้นเขา โดยเลือกใช้รางรถไฟแบบแคบที่มีความกว้างเพียง 762 มม. และใช้รถจักรไอน้ำแบบ Shay เพื่อความสะดวกในการเลี้ยวบนเส้นทางขึ้นเขาที่ทั้งแคบและสูงชัน
เส้นทางรถไฟสายภูเขาอาลีซาน เป็นทางรถไฟเพียงสายเดียวในไต้หวันที่เป็นทั้งเส้นทางรถไฟขึ้นเขาและเป็นเส้นทางสำหรับขนส่งไม้ โดยระบบในการทำป่าไม้ที่ภูเขาไท่ผิงซานและภูเขาปาเซียนซานซึ่งสร้างเสร็จในปีถัดมา ต่างก็ใช้รถเคเบิลในการขนส่งไม้ ซูเจาซวี่ (蘇昭旭) ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งระบบรางกล่าวว่า “เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี” โดยเครื่องบินเพิ่งเป็นที่รู้จักในปี ค.ศ. 1903 ในขณะที่รถยนต์เพิ่งจะเป็นที่แพร่หลายหลังปี ค.ศ. 1920 รถไฟจึงถือเป็นเส้นเลือดสำคัญของการขนส่งทางบก เส้นทางรถไฟสายอาลีซานใช้เทคโนโลยีที่บุกเบิกโดยสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไป แม้จะไม่ใช่ทางเลือกที่ประหยัดหรือมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ในขณะนั้นถือได้ว่าเป็นความสำเร็จขั้นสุดยอดทั้งในด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมแล้ว
ซูเจาซวี่กล่าวอีกว่า “การก่อสร้างทางรถไฟขึ้นเขาในโลกนี้ มีอยู่ 5 วิธี ซึ่งในการก่อสร้างเส้นทางสายอาลีซานต้องใช้ถึง 4 วิธี การเลี้ยวโค้ง 180 องศาแบบเกือกม้าถือเป็นวิธีแรก วิธีที่ 2 คือเส้นทางที่วิ่งเป็นเหมือนเกลียวสำหรับขึ้นภูเขายอดเดี่ยว วิธีที่ 3 คือทางขึ้นเขาแบบขั้นบันไดรูปตัว Z วิธีที่ 4 คือรถจักรไอน้ำแบบ Shay” การวิ่งขึ้นเขา ตัวรถไฟก็ต้องมีสมรรถนะที่เหมาะสม รถจักรไอน้ำแบบ Shay ซึ่งผลิตโดยบริษัท Lima ของสหรัฐฯ ถูกออกแบบสำหรับการวิ่งขึ้นเขาโดยเฉพาะ โดยออกแบบให้กระบอกสูบตั้งในแนวดิ่งเพื่อประหยัดเนื้อที่ และมีพลังขับที่พอเพียง ในการขนถ่ายท่อนไม้ขนาดยักษ์จากบนเขา จึงต้องใช้รถจักรแบบ Shay ในการลำเลียงลงมาข้างล่าง
แม้ว่าบริษัทแม่ที่เป็นผู้ผลิตรถจักรแบบ Shay จะเลิกกิจการไปแล้ว แต่จากความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนด้วยตัวเองของโรงซ่อมบำรุงที่เป่ยเหมิน ทำให้เหล่ารถจักรแบบ Shay ทั้งหลาย ยังสามารถให้บริการได้จนถึงปี ค.ศ. 1969 จึงค่อย ๆ เริ่มปลดระวาง ในปี ค.ศ. 2000 รถจักรไอน้ำหมายเลข 26 ได้รับการซ่อมแซมจนแล้วเสร็จ และในปัจจุบัน หมายเลข 31 และหมายเลข 25 ต่างก็สามารถนำกลับมาวิ่งให้บริการได้อีกครั้งแล้ว ขณะนี้ประเทศที่ยังมีรถจักรแบบ Shay เก็บรักษาอยู่ มีเหลือเพียงไม่กี่ประเทศแล้ว โดยประเทศที่ยังมีรถจักรซึ่งยังสามารถวิ่งใช้งานได้ก็ยิ่งมีน้อยลงไปอีก การที่ไต้หวันยังสามารถอนุรักษ์รถจักรไอน้ำที่ถือเป็นโบราณวัตถุเอาไว้ได้ ถือว่าเป็นสมบัติล้ำค่าของโลกจริง ๆ
กล่าวโดยสรุปก็คือ “ปัจจุบัน ภูเขาอาลีซานคือเส้นทางรถไฟขึ้นเขาระดับโลก (ความชันมากกว่า 50/1,000) เป็นเส้นทางรถไฟภูเขาสูง (ความสูงมากกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล) ทางรถไฟสายป่าไม้ (สำหรับการทำป่าไม้) ทุกอย่างล้วนถือเป็นมรดกแห่งรถไฟ” ซูเจาซวี่กล่าว “ในขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นทางรถไฟขึ้นเขารางแคบที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงที่สุดในเอเชีย และมีเส้นทางที่หมุนเป็นเกลียวซึ่งถือว่ามีความซับซ้อนที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นทางรถไฟรางแคบขนาด 762 มม. ที่วิ่งระหว่างความสูงจากระดับน้ำทะเลที่แตกต่างกันมากที่สุดด้วย” นอกจากนี้ ทางรถไฟสายป่าไม้ของอาลีซานยังมีการแชร์ประสบการณ์ในระดับนานาชาติมากมาย ด้วยการสร้างความสัมพันธ์เป็นทางรถไฟพี่น้องกับทางรถไฟในญี่ปุ่น อินเดีย อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และสโลวักด้วย
สมบัติของไต้หวันที่ถือเป็นสมบัติของโลก
หลังการก่อตั้งสำนักงานรถไฟป่าได้ไม่นาน ก็มีการวางแผนที่จะนำรถจักรไอน้ำ SL-21 ซึ่งจอดอยู่ในสวนสาธารณะเจียอี้มานานถึง 44 ปีกลับมาใช้งาน โดยเริ่มทำการซ่อมแซมเพื่อนำกลับมาใช้วิ่งบนภูเขาอาลีซานอีกครั้ง ด้วยการบันทึกขั้นตอนการซ่อมแซมและเขียนหนังสือคู่มือการซ่อมบำรุง เพื่อถ่ายทอดเทคนิคต่าง ๆ ให้คนรุ่นหลัง ความพยายามเหล่านี้ มีจุดเริ่มมาจากขณะที่ผู้อำนวยการหวงเมี่ยวซิว ได้เดินทางไปดูงานในต่างประเทศ ซึ่งเมื่อ ผอ.หวงเมี่ยวซิว(黃妙修)ได้ยื่นนามบัตรพร้อมแนะนำตัวเองว่ามาจากทางรถไฟสายภูเขาอาลีซาน ทันทีที่ได้ยินชื่อนี้ สายตาของทุกคนต่างก็เปล่งประกายอันสุกใสขึ้น “ดิฉันรู้ได้ในทันทีหลังจากเห็นประกายตาของผู้อื่นว่า เรามีความพิเศษเป็นอย่างมาก” ผอ.หวงเมี่ยวซิวกล่าว การที่ไต้หวันสามารถซ่อมแซมรถจักร Shay ได้ ถือเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก “พวกเขาต่างก็รู้สึกขอบคุณที่ไต้หวันบำรุงรักษามันไว้ตลอดร้อยปีที่ผ่านมา พร้อมหวังว่าไต้หวันจะสามารถอนุรักษ์รถจักร Shay เอาไว้ได้ต่อไป หากมีปัญหาอะไรพวกเขายินดีที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพราะนี่คือสมบัติทางวัฒนธรรมของวงการรถไฟโลก”
ดังเช่นในปี ค.ศ. 2018 ญี่ปุ่นได้มอบ “รางวัลพิเศษสำหรับรถไฟในต่างประเทศ” ให้แก่ทางรถไฟสายอาลีซานของไต้หวัน อันถือเป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดของแนวคิดด้านพรมแดนและสิทธิ์ในการครอบครอง เห็นได้ชัดอย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทางรถไฟสายอาลีซานคือสมบัติทางวัฒนธรรมของโลกอย่างแท้จริง
ที่อาลีซาน เราจะสามารถค้นพบเส้นทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนกับธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และความทรงจำของผู้คนทั่วไป
สมบัติของอาลีซานมิได้มีเพียงแค่ทางรถไฟหรือรถจักรไอน้ำ “เสน่ห์ของอาลีซานคือ การร้อยเรียงเข้าด้วยกันระหว่างระบบนิเวศของป่าไม้ เทคโนโลยีการรถไฟ อุตสาหกรรมป่าไม้ วิถีชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้อง และศิลปวัฒนธรรม” หวงเมี่ยวซิวกล่าว “ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ถูกถักทอเข้าด้วยกันจนทำให้ภูเขาอาลีซาน ถือเป็นหนึ่งไม่มีสอง”
ตราบจนทุกวันนี้ การชมพระอาทิตย์ขึ้นที่อาลีซานยังคงเป็นความทรงจำอันประทับใจที่มีต่อไต้หวันของนักท่องเที่ยวจีนและต่างชาติ ในทุก ๆ วัน จะมีเหล่านักท่องเที่ยวเดินไปตามเส้นทางอันมืดมิดของภูเขาจู้ซานเพื่อไปรอชมพระอาทิตย์ขึ้น ทิวทัศน์กว้างไกลสุดลูกหูลูกตาแบบ 360 องศาที่ไม่มีอะไรมาบดบังบนแท่นชมวิวเซี่ยวลี่หยวน (Ogasawara Observation Deck) สามารถมองไปจนเห็นเทือกเขาอวี้ซาน ภาพของแนวทิวเขาสลับซับซ้อนและทะเลเมฆที่เห็นอยู่ตรงหน้า สวยงามดุจดังภาพวาดในจินตนาการ เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึง ก็เป็นช่วงเวลาที่ดอกซากุระเข้ามาแทนที่หิมะอันหนาวเหน็บ อาลีซานในฤดูใบไม้ร่วงจะกลายเป็นเวทีสำหรับเหล่าใบไม้เปลี่ยนสี ทั้งใบเมเปิลสีแดงและใบแป๊ะก๊วยสีเหลืองทอง ในยามค่ำคืน แท่นชมวิวเสี่ยวลี่หยวนก็กลายมาเป็นห้องเรียนดาราศาสตร์ชั้นเยี่ยม แถมยังมีต้นสนไซเปรสอายุนับพันปีที่แม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมายเหลือคณานับ แต่ก็ยังยืนสูงตระหง่านท้าฟ้าท้าดินมาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงหลายปีมานี้ กรมป่าไม้ไต้หวันได้ผลักดันโครงการ “การบำบัดด้วยป่าไม้” อาลีซานถือเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสาธิตของโครงการด้วย ซึ่งหลินเจียหมิน (林家民) รองเลขาธิการชมรมรักษาสุขภาพด้วยป่าไม้แห่งไต้หวันชี้ว่า จากผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า การเข้าร่วมโปรแกรมบำบัดด้วยป่าไม้ 1 ครั้ง โดยมีผู้เชี่ยวชาญชี้แนะ เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ จะสามารถลดความวิตกกังวลและลดความเครียด ซึ่งต่างก็ถือเป็นอารมณ์ด้านลบได้เป็นอย่างดี ในส่วนของการดูแลสุขภาพก็สามารถช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต เป็นต้น หลินเจียหมินจะจัดให้ผู้ที่ร่วมโครงการไปเดินบนเส้นทางเดินเขาสุ่ยซานที่มีผู้คนผ่านไปมาค่อนข้างน้อย เพื่อดื่มด่ำกับไฟทอนไซด์ (Phytoncide) ที่ถือเป็นยามหัศจรรย์แห่งขุนเขา หลังจากชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ภูเขาจู้ซานแล้ว จะมีนักท่องเที่ยวเหลืออยู่ที่นี่ไม่มากนัก จึงสามารถซึมซับกับบรรยากาศแห่งความเงียบสงบของทั้งจู้ซานและแท่นชมวิวเซี่ยวลี่หยวน ทั้งยังสามารถย่ำไปบนผืนหญ้า สดับฟังเสียงของมวลหมู่ปักษาและเสียงน้ำไหล ปล่อยให้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างเต็มที่ หรือลองหาต้นไม้ใหญ่ ๆ สักต้น แล้วลองกอดหรือลองพิงมัน ใช้เวลาอันเงียบสงบกับมันสักพักหนึ่ง อาลีซานมีศักยภาพอย่างเต็มเปี่ยมที่จะกลายเป็นฐานสำคัญในการบำบัดด้วยป่าไม้ระดับโลก
สถานีหลีหยวนเหลียว ซึ่งอยู่บนความสูง 904 เมตรจากระดับน้ำทะเลคือแหล่งชมหิ่งห้อยที่มีชื่อเสียง จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ทางรถไฟสายหิ่งห้อย” ในแต่ละปี ที่หมู่บ้านไท่ซิงชุนที่อยู่ระหว่างสถานีหลีหยวนเหลียวกับสถานีเจียวลี่ผิง จะมีมวลหมู่นกยางควายที่เป็นนกอพยพหนีหนาวจากทางเหนือมาที่นี่นับสิบล้านตัว ถือเป็นทิวทัศน์แห่งธรรมชาติที่จะมีให้ชมเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ภาพอันตระการตานี้ถูกเรียกว่าเป็น “หมื่นยางควายมาเยือนหงส์” (ชาวบ้านแถบนั้นเชื่อว่าแม่น้ำเซิงเหมาซู่ ที่เป็นแหล่งพำนักของเหล่านกยางควายว่าเป็นจุดที่มีฮวงจุ้ยหงส์)
ภายในสวนป่าท่องเที่ยวอาลีซาน ยังมีนกที่ถือเป็นสัตว์พันธุ์พิเศษซึ่งมีเฉพาะในไต้หวันเท่านั้น เช่น ไก่ฟ้าจักรพรรดิ ไก่ฟ้า มิกาโด และนกกระทาไต้หวัน ที่ต่างก็จะมาปรากฏกายเดินเฉิดฉายอยู่เป็นระยะอย่างไม่กลัวผู้คน เส้นทางสายเหมียนเยว่ก็มีเขตอนุรักษ์กล้วยไม้เอื้องไต้หวัน บริเวณแท่นชมวิวเซี่ยวลี่หยวนก็มีเก้งจีนเดินไปมาอย่างอิสระเสรี ภาพแห่งความกลมกลืนที่อยู่ตรงหน้า ทำให้อดคิดไม่ได้ถึงวันเวลาที่ผ่านมา จากเดิมที่เป็นแหล่งการทำป่าไม้ที่สำคัญในอดีต กลายมาเป็นการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนในปัจจุบัน และพวกเราทุกคนต่างก็กำลังอยู่บนเส้นทางแห่งการค้นหาหนทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกร่วมกับป่าเขาลำเนาไพร
เพิ่มเติม
ทางรถไฟสายป่าไม้ อายุนับร้อยปีแห่งเขาอาลีซาน ทิวทัศน์ทางวัฒนธรรม ที่ร่วมแบ่งปันไปทั่วโลก