New Southbound Policy Portal

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไต้หวัน เดินทางเยือนฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นครั้งแรก เพื่อผลักดันการแลกเปลี่ยนทางสิทธิมนุษยชนนานาชาติ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วันที่ 20 ธ.ค. 65
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดตั้งขึ้นเป็นระยะเวลาสองปีกว่าแล้ว ซึ่งหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ทุเลาลง นางสาวเฉินจวี๋ ประธานคณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชน จึงได้นำคณะเจ้าหน้าที่เดินทางเยือนหน่วยงานสิทธิมนุษยชน หน่วยงานบริหารกิจการสิทธิมนุษยชน รัฐสภาและองค์การสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในฝรั่งเศสและเยอรมนี ในช่วงระหว่างวันที่ 4 – 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก
 
ในช่วงแรก ประธานเฉินฯ ได้เข้าพบ Ms. Delphine Borione เอกอัครราชทูตด้านสิทธิมนุษยชนของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส พร้อมเจรจาหารือแลกเปลี่ยนกันในประเด็นด้านประสบการณ์การผลักดันกฎหมายว่าด้วยการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันของไต้หวัน รวมถึงผลสัมฤทธิ์ด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของไต้หวัน โดย Ms. Borione ก็ได้ตอบรับคำเชิญของประธานเฉินฯ เตรียมนำคณะตัวแทนเดินทางมาเยือนไต้หวันในปีหน้านี้ นอกจากนี้ ประธานเฉินฯ ยังได้เข้าร่วมการประชุมในประเด็นความเสมอภาคทางเพศ และการยกเลิกโทษประหารชีวิตกับ Mr. jean-Luc Romero-Michel รองนายกเทศมนตรีมหานครปารีสที่รับผิดชอบกิจการด้านสิทธิมนุษยชน การบูรณาการและการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่องค์การนอกภาครัฐระหว่างประเทศ
 
นอกจากนี้ ประธานเฉินฯ ยังได้ตอบรับเข้าร่วมแสดงปาฐกถาในอากาเดมีฟร็องแซซ (Académie française) หรือบัณฑิตยสถานฝรั่งเศส พร้อมเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมต่างแสดงความชื่นชมที่ประธานเฉินฯ  ได้ต่อสู้เพื่อกระบวนการทางประชาธิปไตยจนถูกต้องโทษจำคุกเป็นเวลากว่า 6 ปีกว่าด้วย
 
หลังเสร็จสิ้นภารกิจข้างต้นแล้ว คณะตัวแทนไต้หวันยังได้เข้าพบปะกับคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฝรั่งเศส และผู้ตรวจราชการสำนักตรวจสอบด้านการลิดรอนเสรีภาพ เพื่อพูดคุยในประเด็นการผลักดันกิจการที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนของไต้หวัน รวมถึงการที่ไต้หวันมิใช่ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ (UN) แต่ได้ยึดมั่นตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด ด้วยการกำหนดให้บรรจุกฎบัตรตามปฏิญญาลงในข้อกฎหมายของไต้หวัน ตลอดจนผลักดันการประชุมนานาชาติว่าด้วยการตรวจสอบรายงานแห่งชาติ อีกทั้งยังได้ร่วมเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนกับเจ้าหน้าที่องค์การนอกภาครัฐระหว่างประเทศ เช่น สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชน และองค์การนิรโทษกรรมสากล เป็นต้น
 
สำหรับกำหนดการเดินทางในเยอรมนี คณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในรัฐสภาของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Deutscher Bundestag) เป็นครั้งแรก โดยเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งเยอรมนีได้นำคณะเดินทางมาเยือนไต้หวัน และมีความประทับใจต่อการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนในไต้หวันเป็นอย่างมาก ประธานเฉินฯ จึงได้อธิบายถึงสถานการณ์ล่าสุดด้านสิทธิมนุษยชนในไต้หวัน รวมถึงการบริหารการดำเนินภารกิจที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งได้ร่วมตอบข้อซักถามของสมาชิกรัฐสภาแบบข้ามพรรค จากทั้งพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี  (SPD) พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนแห่งเยอรมนี (CDU)  พรรคเสรีประชาธิปไตย (FDP) และพรรคกรีนเยอรมนี (GRÜNE) ร่วมกับนายเซี่ยจื้อเหว่ย ผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ประจำเยอรมนี โดยสมาชิกรัฐสภาของเยอรมนีต่างให้การยอมรับต่อไต้หวันในด้านการผลักดันกระบวนการทางประชาธิปไตย การต่อสู้เพื่อเสรีภาพ รวมไปถึงการดำเนินภารกิจด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และเห็นว่า ไต้หวันควรได้รับความสำคัญจากประชาคมโลกและควรได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่างทัดเทียมกับนานาประเทศทั่วโลก
 
นอกจากนี้ ประธานเฉินฯ ยังได้เข้าพบปะกับ Ms. Luise Amtsberg อุปทูตด้านนโยบายสิทธิมนุษยชนและการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแห่งรัฐสภาเยอรมนี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไต้หวันได้มีโอกาสเข้าพบปะกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานบริหารของเยอรมนี โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการยกเลิกโทษประหารชีวิต แรงงานและการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม เป็นต้น
 
สำหรับภารกิจด้านการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และสิทธิมนุษยชน คณะตัวแทนไต้หวันได้เดินทางเข้าพบปะกับมูลนิธิเพื่อการต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก (Bundesstiftung zur Aufarbeitung der SED-Diktatur) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เคยร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกับไต้หวัน เมื่อปี 2019 โดย Ms. Anna Kaminsky ประธานคณะกรรมการบริหารของมูลนิธิฯ ที่เคยเดินทางมาเยือนไต้หวัน กล่าวว่า เยอรมนีและไต้หวัน มีความคล้ายคลึงกันหลายประการ นับตั้งแต่การก้าวผ่านจากระบอบเผด็จการมาสู่ประชาธิปไตย ประธานเฉินฯ จึงได้แสดงความยินดีที่จะให้การต้อนรับ พร้อมหวังที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึกระหว่างกันต่อไป
 
ทั้งนี้ ตามกำหนดการเดินทางในครั้งนี้ นอกจากคณะตัวแทนจะเข้าเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ แล้ว ประธานเฉินฯ ยังได้รับเชิญจาก Mr. Marcus Faber ประธานกลุ่มพันธมิตรไต้หวันในรัฐสภาเยอรมนี รวมไปถึงสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างฝรั่งเศส – ไต้หวัน และสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างเยอรมนี – ไต้หวัน ให้เข้าร่วมแสดงปาฐกถา เพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมของทั้งสองฝ่ายได้มีความเข้าใจต่อผลสัมฤทธิ์และความมุ่งมั่นด้านการผลักดันประชาธิปไตยของไต้หวัน รวมถึงนัยยะแห่งการผลักดันและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวันด้วย