New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 4 ม.ค. 66
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ Mr. Anders Fogh Rasmussen ประธานมูลนิธิพันธมิตรประชาธิปไตย (Alliance of Democracies Foundation, AoD) โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันตั้งอยู่ในแนวหน้าของการปกป้องประชาธิปไตยทั่วโลก โดยในอนาคต ไต้หวันจะเร่งสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลกในเชิงลึกต่อไป เพื่อร่วมธำรงรักษาสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ให้คงอยู่ต่อไป โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันจะมุ่งมั่นในการผลักดันประชาธิปไตยและเสรีภาพทั่วโลกให้คงอยู่สืบไป
ปธน.ไช่ฯ แสดงความขอบคุณต่อ Mr. Rasmussen ที่ได้เชิญปธน.ไช่ฯ เข้ามีส่วนร่วมใน “การประชุมสุดยอดประชาธิปไตยโคเปนเฮเกน” (Copenhagen Democracy Summit, CDS) เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน โดยปธน.ไช่ฯ มักจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านประชาธิปไตยในระหว่างการประชุมอยู่เสมอๆ พร้อมทั้งร่วมเรียกร้องกับเหล่าผู้นำประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ให้พันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลก สร้างความร่วมมือระหว่างกันอย่างสามัคคี เพื่อร่วมสกัดกั้นความท้าทายที่เกิดจากการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิอำนาจนิยม
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า Mr. Rasmussen เคยเดินทางเยือนไต้หวันเมื่อปี 1994 ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ไต้หวันต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ และมีพัฒนาการที่รุดหน้าในด้านการพัฒนาทางประชาธิปไตย รวมไปถึงการสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังได้สรรค์สร้างภาคประชาสังคมที่มีความแข็งแกร่ง ทรหดและเปี่ยมด้วยพลังอันสดใส ที่เกิดจากการประสานความสามัคคีระหว่างภาคประชาชน ปธน.ไช่ฯ เชื่อว่าการเดินทางมาเยือนของ Mr. Rasmussen ในครั้งนี้ นอกจากจะร่วมเป็นสักขีพยานในผลสัมฤทธิ์ด้านการพัฒนาของไต้หวันแล้ว ยังทำให้คณะตัวแทนสัมผัสได้ถึงค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพที่ประชาชนชาวไต้หวันยึดมั่นและหวงแหน
ปธน.ไช่ฯ ย้ำว่า ไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จ ที่ได้ก้าวผ่านการปกครองด้วยระบอบเผด็จการมาสู่กระบวนการทางประชาธิปไตย ทำให้ตระหนักดีว่า การได้มาซึ่งประชาธิปไตยและเสรีภาพของเราเป็นไปอย่างยากลำบาก ด้วยเหตุนี้ จึงต้องทะนุถนอมสมบัติอันล้ำค่านี้เพื่อส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป
ปธน.ไช่ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องด้วยไต้หวันตั้งอยู่ในแนวหน้าของการมุ่งมั่นปกป้องประชาธิปไตยของโลก เมื่อต้องเผชิญกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ จึงได้มีการเสนอ “แผนปรับโครงสร้างกำลังพลเพื่อการป้องกันประเทศ” ขึ้นมาเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยในอนาคต เราจะเร่งยกระดับแสนยานุภาพทางกลาโหมในภาพรวม ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือในกลุ่มพันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลก เพื่อรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ให้คงอยู่ต่อไป
จากนั้น Mr. Rasmussen ได้กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการเดินทางมาเยือนไต้หวันในครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงพลังสนับสนุนอันหนักแน่นที่มีต่อประชาธิปไตยของไต้หวัน ประชาชนชาวไต้หวันมีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง พร้อมนี้ Mr. Rasmussen ยังให้การสนับสนุนสิทธิในการพำนักอาศัยในสภาพแวดล้อมที่เปี่ยมด้วยเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชนชาวไต้หวัน อีกทั้ง Mr. Rasmussen ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับปธน.ไช่ฯ ในประเด็นแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป
Mr. Rasmussen ได้ก่อตั้งมูลนิธิพันธมิตรประชาธิปไตยขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยมีพันธกิจหลักเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างพันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลก เพื่อร่วมต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ Mr. Rasmussen ระบุว่าพันธมิตรด้านประชาธิปไตยโลกครองสัดส่วนระบบเศรษฐกิจโลกกว่าร้อยละ 60 หากเราประสานความร่วมมือกัน เชื่อว่าจะเกิดเป็นพลังที่สามารถสร้างความเกรงขามให้แก่ประเทศระบอบเผด็จการซึ่งรวมถึงรัฐบาลปักกิ่งได้อย่างแน่นอน
Mr. Rasmussen กล่าวอีกว่า ประชาธิปไตยอันแข็งแกร่งของไต้หวัน เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยทั่วโลก โดยในปี 1994 ที่ตนได้มีโอกาสเดินทางเยือนไต้หวัน ขณะนั้นไต้หวันกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการทางประชาธิปไตย การเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ ทำให้ได้ประจักษ์เห็นถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาทางประชาธิปไตยของไต้หวัน และทำให้ตนรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันนี้ ไต้หวันได้กลายมาเป็นประภาคารแห่งเสรีภาพแล้ว
Mr. Rasmussen ยังรู้สึกเห็นด้วยต่อคำกล่าวของปธน.ไช่ฯ ที่ว่า เราไม่ควรมองว่าประชาธิปไตยและเสรีภาพเป็นสิ่งที่สมควรได้รับตั้งแต่แรก การที่ได้มานั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก จึงพยายามอย่างเต็มที่ในการทำให้ประชาธิปไตยได้รับชัยชนะในท้ายที่สุด โดย Mr. Rasmussen เห็นว่า ประชาธิปไตยเป็นพลังที่เข้มแข็งที่สุดในโลก สิทธิในการกำหนดรูปแบบวิถีชีวิตของตนเอง จะนำมาซึ่งพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลายในสังคม สิทธิในการตั้งข้อสงสัยต่อกฎระเบียบที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน จะส่งเสริมให้มีการพัฒนาไปที่รุดหน้ายิ่งขึ้น และการมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อความคิดเห็นของผู้มีอำนาจ จะช่วยให้รัฐบาลพัฒนาไปสู่ทิศทางที่โปร่งใสและเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น