New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 7 – 9 ม.ค. 66
Mr. Samuelu Penitala Teo ประธานรัฐสภาตูวาลู พร้อมด้วยภริยาและคณะเตรียมนำคณะตัวแทนเดินทางเยือนไต้หวันในระหว่างวันที่ 8 – 12 ม.ค. นี้ ถือเป็นอีกครั้งที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐของตูวาลูเดินทางมาเยือนไต้หวัน ต่อเนื่องจากเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่ง Mr. Kausea Natano นายกรัฐมนตรีตูวาลูนำคณะเดินทางมาเยือนไต้หวัน เป็นการแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่นโดยไม่แบ่งแยกฝักฝ่ายระหว่างหน่วยงานสภาบริหารและสภานิติบัญญัติ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอแสดงความยินดีในการต้อนรับด้วยใจจริง
โดยในระหว่างการเยือนไต้หวันในครั้งนี้ Mr. Teo มีกำหนดการเข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และเข้าพบนายโหยวซีคุน ประธานสภานิติบัญญัติ พร้อมร่วมลงนามใน “แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยภารกิจความร่วมมือนานานประการ ระหว่างสภานิติบัญญัติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และรัฐสภาตูวาลู” เพื่อสร้างความสัมพันธ์ด้วยความร่วมมืออันดี ผ่านการแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกรัฐสภา พร้อมนี้ คณะตัวแทนยังได้ร่วมพูดคุยกับนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเข้าร่วมงานเลี้ยงที่มีนายเถียนจงกวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพ ตลอดจนเข้าเยี่ยมชมกองทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไต้หวัน (International Cooperation and Development Fund, Taiwan ICDF) รวมถึงอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น
Mr. Teo ได้มุ่งมั่นให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่างเต็มที่เสมอมา อันจะเห็นได้จากในเดือนเมษายนปี 2021 Mr. Teo ได้ตอบรับคำเชิญของสถานเอกอัครราชทูตไต้หวันในตูวาลู เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมประสานความเชื่อมโยงระหว่างประเทศประชาธิปไตยที่จัดขึ้นโดยรัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านสื่อโซเชียล เพื่อสนับสนุนให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคมของปีเดียวกัน ก็ยังได้ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมการประชุม “สโมสรฟอร์โมซา” ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ พร้อมทั้งร่วมปราศรัยในฐานะตัวแทนของรัฐบาลตูวาลู
ตูวาลูเป็น 1 ใน 4 ประเทศพันธมิตรของไต้หวันในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนใต้ โดยทั้งสองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 44 แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างแนบแน่น อีกทั้งยังได้ร่วมประสานความร่วมมือในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การแพทย์สาธารณสุข พลังงานสะอาด เทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมการเกษตรและการประมง การศึกษาและการส่งเสริมสิทธิสตรี ซึ่งต่างก็บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่น่าพึงพอใจ
นอกจากนี้ Mr. Laurynas Kasčiūnas ประธานคณะกรรมาธิการการด้านความมั่นคงแห่งชาติและกลาโหม สาธารณรัฐลิทัวเนีย และ Ms. Dovilė Šakalienė รองประธานกลุ่มพันธมิตรไต้หวันในรัฐสภาลิทัวเนีย เตรียมนำคณะสมาชิกรัฐสภาแบบข้ามพรรค ฝ่ายกิจการกลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ รวม 9 คน เดินทางมาเยือนไต้หวันในระหว่างวันที่ 9 – 14 ม.ค. นี้ แสดงให้เห็นถึงการประสานความร่วมมืออย่างสามัคคีระหว่างประเทศประชาธิปไตยแนวหน้า กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอแสดงความยินดีที่จะให้การต้อนรับจากใจจริง
โดยคณะตัวแทนที่นำโดย Mr. Kasčiūnas และ Ms. Šakalienė เป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐสภาแบบข้ามพรรคระดับสูงของลิทัวเนียกลุ่มแรกที่เดินทางมาเยือนไต้หวัน ต่อจากการทยอยนำคณะตัวแทนเดินทางมาเยือนไต้หวันของ 4 เจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี 2022 โดยในระหว่างที่พำนักอยู่ในไต้หวัน คณะตัวแทนมีกำหนดการเข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน และเข้าพบนายซูเจินชาง นายกรัฐมนตรี นายโหยวซีคุณ ประธานสภานิติบัญญัติ นายกู้ลี่สง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานคณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม เป็นต้น พร้อมทั้งจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารที่จัดโดยนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อีกทั้งคณะตัวแทนยังจะร่วมแลกเปลี่ยนเชิงลึกกับเจ้าหน้าที่คลังสมองด้านความมั่นคงทางกลาโหมของไต้หวัน ในประเด็นสถานการณ์ล่าสุดในทวีปยุโรป และสถานการณ์ความสัมพันธ์ช่องแคบไต้หวัน ภัยคุกคามทางความมั่นคงที่เกิดจากสงครามลูกผสม และกลไกการป้องกันประเทศโดยภาคประชาชน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้แก่กันและกัน
วัตถุประสงค์ของการเดินทางมาเยือนไต้หวันของคณะตัวแทนในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบทวิภาคีในเชิงลึก ระหว่างไต้หวัน – ลิทัวเนียแล้ว ยังเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์เชิงความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างสองประเทศในเชิงลึกอีกด้วย แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและพลังของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่อยู่ในแนวหน้า ในการจะต่อต้านการแผ่ขยายของอำนาจเผด็จการ
นอกจากนี้ Dr. Marie-Agnes Strack-Zimmermann ประธานคณะกรรมาธิการด้านกลาโหมในรัฐสภาเยอรมนี และ Mr. Johannes Vogel รองหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย ก็เตรียมนำคณะสมาชิกรัฐสภาระดับสูงที่ดูแลกิจการด้านกลาโหม การต่างประเทศและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เดินทางมาเยือนไต้หวันในช่วงระหว่างวันที่ 9 -12 ม.ค. นับเป็นกลุ่มสมาชิกรัฐสภาเยอรมนีกลุ่มที่ 3 ที่เดินทางมาเยือนไต้หวันภายในระยะเวลาเพียง 4 เดือน ต่อจากคณะตัวแทนจากกลุ่มพันธมิตรไต้หวันและคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนในรัฐสภาเยอรมนี ที่เดินทางมาเยือนไต้หวันเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2021 กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอแสดงความยินดีต้อนรับด้วยใจจริง
โดยในระหว่างการเยือนในครั้งนี้ คณะตัวแทนมีกำหนดการเข้าเยี่ยมคารวะปธน.ไช่อิงเหวิน และเข้าพบนายซูเจินชาง นายกรัฐมนตรีไต้หวัน นายกู้ลี่สง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารที่มีนายโหยวซีคุณ ประธานสภานิติบัญญัติและนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทยอยเป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ คณะตัวแทนยังมีกำหนดการเข้าเจรจาหารือกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาดิจิทัลและคณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อมทั้งเข้าเยี่ยมชมอุทยานรำลึกสิทธิมนุษยชนในเขตจิ๋งเหม่ยและสวนวิทยาศาสตร์ซินจู๋ และร่วมพูดคุยกับนักวิชาการจากหน่วยงานคลังสมองของไต้หวัน โดยคณะสมาชิกตัวแทนต่างคาดหวังที่จะลงสำรวจในพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การพัฒนาในไต้หวัน ตลอดจนเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือแบบทวิภาคีในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนอันดีและค่านิยมที่ยึดมั่นร่วมกัน ระหว่างไต้หวัน - เยอรมนี
เมื่อปี 2021 ตัวแทนพรรคเสรีประชาธิปไตยแห่งเยอรมนี ได้มีมติผ่านญัตติว่าด้วยการกำหนดให้แนวทางการปฏิบัติต่อไต้หวันถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพรรคการเมืองเพื่อใช้ในการแข่งขันการเลือกตั้ง โดยได้ยื่นเสนอว่า รัฐบาลเยอรมนีควรร่วมจัดตั้งกลไกทางยุทธศาสตร์ว่าด้วยการสกัดกั้นภัยคุกคามที่จีนกระทำต่อไต้หวันด้วยการคุกคามทางทหารและการสร้างหลักประกันว่าด้วยการแก้ไขปัญหาสองฝั่งช่องแคบไต้หวันด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ร่วมกับพันธมิตรในทวีปยุโรปและประเทศประชาธิปไตย อย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดียและออสเตรเลีย โดยในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีภายในของเยอรมนี พรรคเสรีประชาธิปไตยได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันอย่างเต็มที่ โดยได้กระตุ้นให้มีการกำหนดนโยบายที่เป็นมิตรต่อไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงในการจัดตั้งครม. กต.ไต้หวันรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นว่าเยอรมนีเข้ามีส่วนร่วมในกิจการอินโด - แปซิฟิก และมุ่งมั่นในการรักษาสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน อย่างกระตือรือร้น พร้อมคาดหวังที่จะเห็นเยอรมนีและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ร่วมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน รวมไปถึงเป็นการสร้างเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดแก่ภูมิภาคสืบไป