New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 16 ม.ค.2566
เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่นางโรสแมรี่ บาร์ตอน( Rosemary Barton) นักวิเคราะห์การเมืองระดับแนวหน้าและพิธีกรรายการ Rosemary Barton Live ของสถานีวิทยุ CBC/Radio-Canada ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกเผยแพร่ผ่านทางสื่อโทรทัศน์และเว็บไซต์ของ CBC/Radio-Canada ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจและเสียงตอบรับที่ดีจากทุกแวดวงในแคนาดาและภูมิภาคอเมริกาเหนือ
เมื่อต้องเผชิญกับการคุกคามจากจีน รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า รัฐบาลไต้หวันจะพยายามอย่างเต็มความสามารถในการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามขึ้น ดังนั้นจึงพยายามผลักดันและปฏิรูปทางการทหาร เพื่อยกระดับแสนยานุภาพในการป้องกันประเทศและยับยั้งไม่ให้เกิดการรุกรานขึ้น ซึ่งเหล่าประเทศประชาธิปไตย อาทิ แคนาดา สหรัฐอเมริกา อังกฤษออสเตรเลียและญี่ปุ่น ต่างแสดงจุดยืนที่คัดค้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพปัจจุบันของสองฝั่งช่องแคบไต้หวันด้วยความพยายามเพียงฝ่ายเดียว ไต้หวันหวังว่า ประชาคมโลกจะสนใจและให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมข่มขู่อย่างต่อเนื่องจากจีน พร้อมสกัดกั้นความพยายามของจีนในการใช้กำลังอาวุธรุกรานประเทศอื่น
รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า ไต้หวันในฐานะประเทศประชาธิปไตยที่มีการพัฒนาจนเจริญรุ่งเรือง จะยืนหยัดในการให้ความสนับสนุนอธิปไตยและเสรีภาพของยูเครน ภายใต้ภาวการณ์ที่แนวร่วมด้านประชาธิปไตยในประชาคมโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามจาก 2 ประเทศลัทธิอำนาจนิยมคือ จีนและรัสเซีย จึงยิ่งต้องยืนหยัดต่อต้านการแผ่ขยายอำนาจและการทำลายสถานภาพปัจจุบัน เพื่อยับยั้งภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นมากกว่าเดิมในอนาคต
สำหรับประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับแคนาคา รมว.อู๋ฯ เห็นว่า ไต้หวันกับแคนาดามีค่านิยมร่วมกันในด้านเสรีภาพและประชาธิปไตย รัฐบาลไต้หวันมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคีในด้านเศรษฐกิจและการค้าให้เป็นไปในเชิงลึก พร้อมหวังว่า ในอนาคตจะสามารถเสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือกับแคนาดาในด้านห่วงโซ่อุปทาน เทคโนโลยี และการศึกษา เป็นต้น ไต้หวันขอแสดงความยินดีด้วยใจจริงต่อการที่แคนาดาประกาศ “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” โดยเน้นย้ำในด้านการทุ่มเททรัพยากรเพื่อเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับแคนาดา ตลอดจนสร้างความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นอกจากนี้ยังคาดหวังว่าแคนาดาจะเร่งเปิดเจรจาและลงนาม “ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Promotion and Protection Agreement, FIPA)” กับไต้หวันโดยเร็ววัน รวมทั้งให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยไต้หวันมีคุณสมบัติที่ตรงตามมาตรฐานขั้นสูงของ CPTPP และมีความยินดีที่จะแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดกับหุ้นส่วนแห่งประชาธิปไตยทั่วโลกในด้านห่วงโซ่อุปทานที่มีความทรหดและเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อร่วมกันส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกต่อไป