New Southbound Policy Portal
กระทรวงวัฒนธรรม วันที่ 31 ม.ค. 66
โซนแสดงงานวรรณกรรมในนิทรรศการหนังสือนานาชาติไทเป ประจำปี 2023 ได้เปิดฉากขึ้นในวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ตามด้วยการเปิดตัวของหนังสือใหม่ In Words We Thrive โดยโซนแสดงงานวรรณกรรมมีกระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นหน่วยงานกำกับดูแล และมีหอวรรณกรรมไต้หวันแห่งชาติ เป็นผู้จัดแสดงหลัก ร่วมกับสำนักพิมพ์ 5 แห่ง คือ Elite Book, หงฟ่าน, Chiuko, Wenhsun และ INK Literary Monthly ภายในมีส่วนจัดแสดงวรรณกรรมไต้หวัน ส่วนจัดแสดงวรรณกรรมฮากกา พร้อมทั้งมีการจัดการบรรยายแบบสั้นๆ อีกหลายรอบ
นายสื่อเจ๋อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวระหว่างพิธีเปิดว่า ตัวอักษร การอ่าน การสร้างสรรค์ และการจัดจำหน่าย ล้วนเป็นวัฏจักรแบบดั้งเดิมที่สุดของวัฒนธรรมทั้งหมด การสร้างสรรค์และการจัดจำหน่ายถือเป็นของคู่กัน ก็เหมือนกับการจัดนิทรรศการกับศิลปิน โปรดิวเซอร์กับผู้กำกับ หากนักเขียนไม่ได้ทำงานร่วมกับบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ก็จะไม่สามารถก่อให้เกิดเป็นพลังแห่งงานเขียนขึ้นมาได้ รมว.สื่อฯ ย้ำว่า จะพยายามอย่างเต็มที่ในการ “ส่งเสริมคอนเทนต์ไต้หวันพร้อมสร้างความมั่นใจทางวัฒนธรรม” ขอเพียงคอนเทนต์ของไต้หวันมีความโดดเด่น ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่า บนเกาะแห่งนี้มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย จนทำให้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมกลายเป็นอาวุธทางการเมือง
หอวรรณกรรมไต้หวัน ได้จัดนิทรรศการพิเศษชื่อ “ทักษะ/ความทรงจำของการจัดจำหน่ายงานวรรณกรรม” โดยได้รวบรวมเอาผลงานของนักเขียนและสำนักพิมพ์ที่ทำงานในแวดวงวรรณกรรมของไต้หวันมาจัดแสดง ตั้งแต่การสร้างสรรค์ผลงาน การวางแผนด้านบรรณาธิการ การเรียงพิมพ์ การจัดจำหน่าย และการวางแผนการตลาด เพื่อแสดงให้เห็นถึงกระบวนการ สภาพแวดล้อม และจิตวิญญาณในการทำงานของผู้คนในแวดวงวรรณกรรม โดยการจัดแสดงในส่วนของ “การถือกำเนิดของสิ่งที่เรียกว่าหนังสือ” จะแนะนำให้ทุกคนได้รู้ว่า ก่อนที่งานวรรณกรรมจะถูกจัดพิมพ์เป็นเล่มออกมา เหล่าบรรณาธิการต้องเตรียมการอะไรบ้าง ส่วนจัดแสดง “เส้นทางบินต่างๆ ที่บรรทุกงานวรรณกรรม” จะแนะนำให้ว่า หลังจากหนังสือออกวางตลาดแล้ว จะเข้าไปอยู่ในจิตใจของผู้อ่านได้อย่างไร “ภาพของคนทำงานวรรณกรรม” จะแนะนำเหล่าผู้ได้รับรางวัล Special contribution award จาก Golden Tripod Awards ว่ามีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างไรบ้าง