New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 16 ก.พ. 66
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Peter Stefanovic ผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ The Sky News Australia ของออสเตรเลีย โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกเผยแพร่ผ่านรายการพิเศษ “ออสเตรเลียเตรียมพร้อมรับมือกับสงครามแล้วหรือไม่?” (Are We Ready for War?) ในช่วงข่าวค่ำของวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ในช่วงเวลา Prime Time โดยมีความยาว 1 ชั่วโมง ซึ่งมีทั้งการสัมภาษณ์รมว.อู๋ฯ และวิเคราะห์ถึงความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของกลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก โดยชี้ว่า หากเกิดสงครามขึ้นในเขตพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน ออสเตรเลียก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น บทสัมภาษณ์ข้างต้นจึงได้รับความสนใจจากทุกแวดวงในออสเตรเลียเป็นอย่างมาก
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า จีนทำการซ้อมรบครั้งใหญ่ในพื้นที่รอบน่านน้ำและน่านฟ้าไต้หวันโดยใช้ข้ออ้างจากการที่นางแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน พร้อมทั้งทำสงครามจิตวิทยาอย่างต่อเนื่องด้วยการเผยแพร่ข่าวปลอม และปฏิเสธการมีอยู่ของเส้นกึ่งกลางระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน รวมทั้งกล่าวอ้างว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน เพื่อหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสถานภาพในพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน ด้วยการสร้าง “New Normal” แบบใหม่ขึ้นมาแทนที่
รมว.อู๋ฯ ขี้ว่า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำจีนได้เน้นย้ำต่อประชาคมโลกหลายครั้งว่า จะไม่ล้มเลิกแนวคิดที่จะรุกรานไต้หวันด้วยกำลังทหาร โดยการคุกคามไต้หวันของจีนมิใช่เพียงการขู่ทางวาจาเท่านั้น ดังนั้นหากมีการวิเคราะห์สถานการณ์ผิดพลาดหรือประเมินศักยภาพทางกลาโหมของตนเองไว้สูงเกินไป ก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำการประกาศสงคราม ซึ่งหากจีนเข้ารุกรานไต้หวันจริง นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทั่วโลกอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น แผ่นชิปวงจรรวมทันสมัยที่ไต้หวันเป็นผู้ผลิต และครองส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 90 หากว่าห่วงโซ่อุปทานต้องประสบกับอุปสรรคจนต้องหยุดชะงัก เศรษฐกิจทั่วโลกก็พลอยได้รับความเสียหายไปด้วย
รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า สองฝั่งช่องแคบไต้หวันมิได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ไต้หวันในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตย ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของภาคประชาชน โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ประชาชนชาวไต้หวันส่วนมากไม่ยอมรับต่อ “หลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ” หรือ “หลักการรวมประเทศ” ซึ่งทุกคนพร้อมที่จะธำรงรักษาวิถีชีวิตแห่งประชาธิปไตยและเสรีภาพไว้อย่างหนักแน่นมั่นคง พวกเราไม่คาดหวังที่จะก่อสงครามในช่องแคบไต้หวัน เนื่องจากไม่มีประเทศใดในโลกที่ได้รับประโยชน์จากสงคราม เชื่อว่าจีนก็เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศประชาธิปไตยจึงควรร่วมเรียกร้องให้จีนตระหนักเห็นว่า การข่มขู่ไต้หวันด้วยกำลังทหารของจีนไม่เป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก
รมว.อู๋ฯ กล่าวอีกว่า มาตรการควบคุมสถานการณ์โรคโควิด – 19 ที่เข้มงวดของจีน สร้างความไม่พึงพอใจให้กับประชาชนในประเทศ ประกอบกับการทรุดตัวลงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน และการที่สถาบันการเงินระดับท้องถิ่นประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจสร้างความเสียหายให้ระบบเศรษฐกิจของจีน หากรัฐบาลจีนไม่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจจะสร้างความขัดแย้งขึ้นนอกประเทศเพื่อเบี่ยงเบนวิกฤตภายในของตน ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงเฝ้าจับตาต่อสถานการณ์ภายในของจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากไต้หวันไม่ต้องการเป็นแพะรับบาปในการบริหารประเทศผิดพลาดของจีน
โดยรายการข่าวข้างต้นนี้ ยังได้มีการสัมภาษณ์ Mr. Leon Panetta อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ และ Mr. Andrew Hastie สมาชิกพรรคเสรีนิยมแห่งออสเตรเลียและรัฐมนตรีเงาในกระทรวงกลาโหม รวมถึงนายไล่อี๋จง ประธานคณะกรรมการบริหารของมูลนิธิ The Prospect Foundation ซึ่งได้ร่วมพูดคุยกันในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ - จีน และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ - ออสเตรเลีย สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวัน ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของไต้หวัน ความพร้อมในการป้องกันประเทศของออสเตรเลียและความสำคัญของพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาคอย่างสหรัฐฯ - ออสเตรเลีย ผ่านมุมมองของผู้ที่ร่วมให้สัมภาษณ์