New Southbound Policy Portal
สำนักข่าว Liberty Times News วันที่ 17 ก.พ. 66
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา กรมการท่า กระทรวงคมนาคม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ Mr. Hernani N. Fabia ผู้บัญชาการการการพาณิชย์นาวีแห่งฟิลิปปินส์ (Maritime Industry Authority) Mr. Leem Bok Soon ประธานสถาบันวิจัยเรือสำราญนานาชาติแห่งเกาหลีใต้ (Korea International Cruise Research Institute) และนายเจิงจวิ้นเผิง นายกสมาคมพัฒนาอุตสาหกรรมเรือสำราญแห่งไต้หวัน ได้ร่วมลงนาม “หนังสือแสดงเจตจำนงว่าด้วยการเป็นพันธมิตรเรือสำราญในภูมิภาคเอเชีย” ( Asia Archipelago Cruise Alliance Launch Ceremony , AACA) โดยนายเย่เสียหลง อธิบดีกรมการท่าไต้หวัน กล่าวว่า การลงนามในวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดยในอนาคตจะร่วมหารือแนวทางการปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมกับพันธมิตรทางความร่วมมือ เพื่อบูรณาการทรัพยากรด้านการตลาดและการให้รางวัลในอุตสาหกรรมเรือสำราญของกลุ่มพันธมิตร โดยคาดว่าภายในปลายปีนี้ หน่วยงาน AACA จะก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดให้หมู่เกาะในเอเชียเป็นจุดหมายปลายทางในการจอดเทียบท่าของเรือสำราญนานาชาติ
สมาคมเรือสำราญนานาชาติ คาดการณ์ว่า ภายในปลายปีนี้ ตลาดเรือสำราญจะสามารถฟื้นตัวกลับสู่มาตรฐานในปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด – 19 นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เลือกโดยสารเรือสำราญแบบ Expedition Cruises มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นถึง 5 เท่า ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ก่อนปี 2027 จะมียอดนักท่องเที่ยวที่โดยสารเรือสำราญแบบ Expedition Cruises เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 400,000 คนในทุกปี โดยเรือสำราญ 9 ลำในจำนวนทั้งหมด 16 ลำที่เปิดตัวขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ล้วนแล้วแต่เป็นเรือสำราญแบบ Expedition Cruises ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่า นี่เป็นเทรนด์ใหม่ของอุตสาหกรรมเรือสำราญนานาชาติ
AACA เป็นโครงการความร่วมมือที่ไต้หวันยื่นเสนอต่อกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกอย่างฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ อธิบดีเย่ฯ กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเรือสำราญในไต้หวัน กรมการท่าและสมาคมพัฒนาอุตสาหกรรมเรือสำราญไต้หวัน ได้ร่วมพิจารณาหารือกันบ่อยครั้ง ซึ่งได้สังเกตเห็นว่า กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกมีข้อได้เปรียบและเอกลักษณ์ที่คล้ายคลึงกันหลายจุด อาทิ ทรัพยากรการท่องเที่ยวของหมู่เกาะที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญแบบ Expedition Cruises ในตลาดนานาชาติ
ตามรายงานเบื้องต้นระบุว่า ปีนี้จะมีเรือสำราญนานาชาติทั้งหมด 96 ลำเดินทางมาเทียบท่าในไต้หวัน โดยแบ่งเป็น ท่าเรือหลัก 35 ลำ และท่าเรือแวะพักอีก 61 ลำ ซึ่งในจำนวนนี้มี 4 ลำที่เป็นเรือสำราญแบบ Expedition Cruises หลังจากที่ AACA ได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้เรือสำราญแบบ Expedition Cruises ล่องเรือเข้ามาท่องเที่ยวในไต้หวันกันเพิ่มมากขึ้น
Mr. Leem Bok Soon กล่าวว่า เกาหลีใต้นอกจากเกาะเชจูแล้ว ก็ยังมีเกาะต่างๆ มากมายอีกกว่า 3,000 แห่ง ซึ่งมีสถานที่หลายแห่งที่เหมาะแก่การเดินทางเข้าเยี่ยมชมในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อสัมผัสกับวัฒนธรรมประเพณีในพื้นที่ พร้อมเพลิดเพลินไปกับระบบนิเวศทางธรรมชาติโดยรอบ ซึ่งการเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ของ Mr. Leem Bok Soon ก็ได้มีการแวะเยือนเกาะหม่าจู่และจินเหมิน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม โดยวัตถุประสงค์ของการประสานความร่วมมือกันในครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการบูรณาการทรัพยากรการท่องเที่ยวของหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียที่ด้อยพัฒนาและประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงยกระดับศักยภาพการแข่งขันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเรือสำราญให้ได้มากขึ้น ตลอดจนจัดให้หมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียเป็นจุดหมายปลายทางในการจอดเทียบท่าของเรือสำราญนานาชาติ
ขณะนี้ตลาดการท่องเที่ยวทั่วโลกกำลังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว เรือสำราญแบบข้ามหมู่เกาะนับเป็นน่านน้ำสีครามใหม่ในตลาดเรือสำราญ กรมการท่าแถลงว่า คาดหวังที่จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางความร่วมมือกับหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกผ่านหน่วยงาน AACA พร้อมทั้งบูรณาการทรัพยากรด้านการตลาดและการให้รางวัลของอุตสาหกรรมเรือสำราญในแต่ละประเทศ เพื่อคว้าโอกาสในการส่งเสริมให้หมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียเป็นจุดหมายปลายทางในการจอดเทียบท่าของเรือสำราญนานาชาติ รวมถึงพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญแบบข้ามหมู่เกาะเพื่อให้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ของอุตสาหกรรมเรือสำราญไต้หวันต่อไป