New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 19 ก.พ. 66
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Ms. Leila Fadel ผู้สื่อข่าวรายการ Morning Edition ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติสหรัฐฯ (National Public Radio, NPR) โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกเผยแพร่ผ่านรายการพิเศษ “การรุกรานของรัสเซียสร้างความสะพรึงต่อยูเครนอย่างไร เป็นภัยคุกคามที่มีต่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศอย่างไร” (How Russia's war galvanized Ukraine and still threatens the world order) เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีของสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ซึ่งได้รับความสนใจและกระแสตอบรับเป็นอย่างดีในวงกว้างในสหรัฐฯ
พิธีกรของรายการกล่าวขึ้นมาว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่รัสเซียบุกรุกรานยูเครน ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศทั่วโลก และทำให้ประชาคมโลกจับตาต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ไต้หวันต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน รมว.อู๋ฯ ตอบกลับว่า ประชาชนชาวไต้หวันต่างเฝ้าจับตาต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย - ยูเครนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพวกเราเชื่อว่า เหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นในยูเครน ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในไต้หวันเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ เมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากจีน นอกจากไต้หวันจะเร่งระดมเงินและสิ่งของมาบริจาค เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนชาวยูเครนผู้กล้าหาญแล้ว ไต้หวันยังได้เรียนรู้แผนยุทธศาสตร์การเอาชนะคู่ต่อสู้ที่เหนือกว่าด้วยแสนยานุภาพทางกลาโหมที่ขาดความสมดุลของยูเครน ควบคู่ไปกับการเร่งเสริมสร้างแสนยานุภาพทางการทหารที่ขาดความสมดุลของตนเอง พร้อมทั้งผลักดันการปฏิรูปทางกลาโหมอย่างกระตือรือร้น ตลอดจนสร้างขวัญและกำลังใจให้ประชาชนชาวไต้หวันฮึดสู้ไปพร้อมกัน ทั้งนี้ เพื่อปกป้องอำนาจอธิปไตย หลักการประชาธิปไตยและเสรีภาพของพวกเรา ให้คงอยู่สืบไป
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า การรุกรานด้วยกำลังทหารของรัสเซีย ได้สร้างความวิตกกังวลให้ทั่วโลกเป็นอย่างมาก ซึ่งการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการก็ได้เกิดขึ้นในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกเช่นกัน โดยเฉพาะความทะเยอทะยานและแผนปฏิบัติการของจีน มิได้จำกัดอยู่เพียงเฉพาะกับไต้หวันเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปสู่ทะเลจีนตะวันออก หรือแม้กระทั่งทะลวงพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 (First Island Chain) ไปจนถึงพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา จีนและหมู่เกาะโซโลมอนได้ร่วมลงนามความตกลงทางความมั่นคงระหว่างกัน และในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้จัดตั้งฐานทัพทหารในพื้นที่หมู่เกาะทะเลจีนใต้ อีกทั้งยังได้จัดส่งเครื่องบินและเรือรบลาดตระเวณน่านน้ำและน่านฟ้าในพื้นที่ช่องแคบไต้หวันเป็นประจำ ซึ่งเป็นสัญญาณแจ้งเตือนให้แก่นานาประเทศทั่วโลกร่วมจับตาเฝ้าระวังพฤติกรรมของจีน
รมว.อู๋ฯ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน จีนได้เฝ้าสังเกตกลุ่มประเทศในซีกโลกตะวันตก ว่ามีความมุ่งมั่นเพียงพอที่จะสกัดกั้นภัยคุกคามที่เกิดจากรัสเซียหรือไม่ พร้อมกันนี้ ยังได้อ้างอิงประสบการณ์จากสงครามรัสเซีย - ยูเครน เพื่อวิเคราะห์ข้อเสียเปรียบทางการทหารของรัสเซีย และนำมาปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติการทางกลาโหมของตนเอง ซึ่งจากการสังเกตพบว่า กลุ่มประเทศในยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลียและญี่ปุ่น ต่างก็ให้การสนับสนุนยูเครนอย่างหนักแน่นและต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้จีนพิจารณาทบทวนต่อแผนการเข้ารุกรานไต้หวันด้วยกำลังทหาร แต่หากจีนเห็นว่า กลุ่มประเทศในซีกโลกตะวันตกเกิดการแบ่งแยก หรือไร้ซึ่งความสามารถในการลงโทษผู้รุกราน ก็อาจส่งผลให้จีนรุกรานไต้หวันหรือประเทศอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย รมว.อู๋ฯ กล่าวด้วยว่า เมื่อต้องเผชิญกับการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน มีเพียงการยึดมั่นในความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปกป้องประเทศเท่านั้น ที่จะช่วยให้สามารถเอาชนะผู้รุกรานได้
รมว.อู๋ฯ เห็นว่า สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนทางความมั่นคงที่ไต้หวันพึ่งพาได้มากที่สุด พลังสนับสนุนของสหรัฐฯ มีความสำคัญต่อไต้หวันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังสงครามรัสเซีย - ยูเครน ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ มุ่งไปสู่ทิศทางความร่วมมือด้านความมั่นคงอย่างครอบคลุม นอกจากรัฐบาลสหรัฐฯจะอนุมัติการจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาไว้ซึ่งแสนยานุภาพด้านการป้องกันประเทศ อีกทั้งยังได้ช่วยทำการฝึกซ้อมทางการทหารให้แก่ไต้หวันด้วย เพราะถือเป็นความจำเป็นต่อการเสริมสร้างศักยภาพทางกลาโหมของไต้หวันเป็นอย่างมาก รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันต้องการพลังสนับสนุนจากประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ การเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวัน หรือการประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อจีน หากจีนเข้ารุกรานไต้หวัน ซึ่งพวกเราจะขอขอบคุณด้วยใจจริง
ในช่วงท้าย รมว.อู๋ฯ เรียกร้องต่อประชาคมโลกว่า สงครามนำมาซึ่งการบ่อนทำลาย ซึ่งอาจรวมถึงหายนะที่จีนต้องเผชิญภายหลังการก่อสงคราม การธำรงรักษาสถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวัน และการสร้างหลักประกันด้านสันติภาพในภูมิภาค สอดคล้องต่อผลประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย โดยกฎบัตรของสหประชาชาติได้ระบุถึงหลักการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี หากสองฝั่งช่องแคบไต้หวันสามารถแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจา ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามได้ แต่ไต้หวันมิสามารถรอคอยการโอนอ่อนของจีนได้แต่เพียงอย่างเดียว โดยในระหว่างการแสวงหาแนวทางการเจรจากับจีนอย่างสันตินั้น ไต้หวันก็จำเป็นต้องเร่งเตรียมการป้องกันประเทศ เพื่อรับมือกับสถานการณ์อันเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตเช่นกัน