New Southbound Policy Portal

ปธน.ไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วม “พิธีรำลึกเนื่องในวาระครบรอบ 76 ปีเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 28 กุมภาพันธ์”

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 28 ก.พ. 66
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 28 ก.พ. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางเยือนนครไถหนาน เพื่อเข้าร่วม “พิธีรำลึกเนื่องในวาระครบรอบ 76 ปีเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 28 กุมภาพันธ์” โดยปธน.ไช่ฯ นอกจากได้วางพวงหรีดเพื่อแสดงความเคารพและไว้อาลัยแด่เหยื่อทางการเมืองที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้แล้ว ปธน.ไช่ฯ ยังแถลงว่า รัฐบาลไต้หวันได้เร่งมุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านอย่างกระตือรือร้น เปรียบเสมือนการวิ่งแข่งกับเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่เหยื่อทางการเมืองและสมาชิกในครอบครัว คาดหวังมาเป็นเวลานาน และเป็นภารกิจความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาลที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หลังจากที่ไต้หวันก้าวเข้าสู่กระบวนการทางประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ โดยปธน.ไช่ฯ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานยืนหยัดในจุดยืนอย่างหนักแน่น ควบคู่ไปกับการเร่งบรรลุภารกิจประการสำคัญอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนชาวไต้หวันแสวงหาเสรีภาพและความเจริญรุ่งเรืองได้อย่างมีเกียรติ ร่วมแลกเปลี่ยนกับนานาประเทศทั่วโลกได้อย่างสมเกียรติ และสามารถเป็นตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี จึงจะถือเป็นรูปแบบของการรำลึกต่อเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในอดีต ได้อย่างดีที่สุด
 
การกล่าวปราศรัยของปธน.ไช่ฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้ :

วันนี้เป็นวันครบรอบ 76 ปีแห่งเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 28 กุมภาพันธ์ ในนครไถหนานมีอนุสรณ์สถาน 28 กุมภาพันธ์ตั้งอยู่ 2 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือสถานที่แห่งนี้ที่ข้าพเจ้ายืนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งบริเวณยอดของตัวอนุสรณ์เป็นรูปทรงกระถาง 3 ขาของจีนที่ทรุดโทรมเสียหาย สื่อให้เห็นถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ โดยฝั่งตรงข้ามของอนุสรณ์สถาน คือศาลาว่าการเทศบาลนครไถหนาน ถือเป็นเครื่องเตือนใจให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐร่วมจดจำบทเรียนราคาแพงในห้วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
 
นอกจากนี้ ในพื้นที่นครไถหนานยังมีสวนอนุสรณ์วีรชนทังเต๋อจาง ซึ่งเป็นสถานที่วีรชนทังฯ สละชีวิตของตนเองเพื่อปกป้องพลเมืองในนครไถหนาน เนื่องจากเขาปฏิเสธที่จะนำสมุดบันทึกรายชื่อส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐในยุคสมัยนั้น จึงตัดสินใจทำลายสมุดบันทึกรายชื่อประชาชนทิ้ง และแบกรับข้อกล่าวหาที่ตนมิได้เป็นคนก่อไว้แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งวีรชนทังฯ ต้องพบเจอกับบทลงโทษแสนสาหัสเป็นระยะเวลากว่า 2 วันเต็มๆ และถูกนำตัวไปประจานต่อหน้าประชาชน จนในท้ายที่สุดเขาถูกสังหารด้วยอาวุธปืน จบชีวิตลงอย่างน่าสลด จากเหตุการณ์สละชีวิตตนเพื่อปกป้องส่วนรวมของวีรชนทังฯ ในครั้งนี้ ส่งผลให้นครไถหนานรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ที่รุนแรงเมื่อครั้งอดีต
 
ในปี 2021 ที่พักอาศัยในถิ่นกำเนิดของทังเต๋อจางต้องประสบกับวิกฤตการรื้อถอนอาคาร โดยชาวบ้านในพื้นที่ต่างช่วยกันระดมเงินบริจาคเพื่อซื้อที่ดินแห่งนี้ไว้เพื่อการอนุรักษ์ แสดงให้เห็นถึงพลังความสามัคคีของภาคประชาชนที่พร้อมใจกันธำรงรักษาไว้ซึ่งจิตวิญญาณของวีรชนทังฯ และยังเป็นสัญญลักษณ์แห่งความกล้าหาญในยุคสมัยอดีตอีกด้วย
 
เมื่อเดือนกันยายน ปี 2022 อนุสรณ์สถานรำลึกเหตุโศกนาฏกรรม 28 กุมภาพันธ์ ในนครไถหนาน ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้ว โดยประชาชนสามารถเข้าเยี่ยมชม พร้อมทำความเข้าใจกับคุณประโยชน์ที่เหล่าวีรบุรุษไต้หวันอย่างทังเต๋อจาง และหวังอวี้หลิน ที่ได้ร่วมอุทิศไว้ให้แก่สังคมไต้หวัน ที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐตระหนักถึงความสัจจริงที่ว่า เหล่าวีรบุรุษต่างสละชีวิตของตน เพื่อปกป้องความยุติธรรม ประชาธิปไตยและเสรีภาพในสังคมไต้หวันให้คงอยู่ต่อไป และเป็นเครื่องย้ำเตือนให้พวกเราระลึกอยู่เสมอว่า ห้ามกระทำผิดซ้ำเดิมอีก
 
ซึ่งนี่คือเหตุผลว่าด้วยเหตุใดรัฐบาลจึงได้เร่งผลักดันภารกิจที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นระบบ นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ซึ่งตลอดช่วงที่ผ่านมา พวกเราได้มุ่งมั่นบัญญัติข้อกฎหมายใน “กฎหมายว่าด้วยระบบพรรคการเมือง” “กฎหมายว่าด้วยความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” และ “กฎหมายว่าด้วยข้อมูลทางราชการ” โดยขณะนี้ ภารกิจการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านยังอยู่ระหว่างการสั่งสมผลสัมฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง
 
โดยภารกิจขั้นต้นในปัจจุบันที่รัฐบาลไต้หวันมุ่งมั่นผลักดัน สรุปโดยสังเขปได้ดังนี้ :

อันดับแรก ในส่วนของการปลอบประโลมและชดเชยเหยื่อทางการเมือง พวกเราได้ถอดถอนคำฟ้องที่ไม่เป็นธรรม รวมกว่า 5,983 กรณี นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลได้ลบล้างประวัติการกระทำความผิดของเหยื่อทางการเมือง เพื่อลบตราบาปที่ฝังอยู่ในจิตใจของเหล่าวีรบุรุษและผู้อาวุโสที่ประสบกับความไม่เป็นธรรมมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูล สามารถรวบรวมข้อมูลการใช้อำนาจรัฐในยุคระบอบเผด็จการได้เป็นจำนวนกว่า 7,572 กรณี โดยรัฐบาลจะเร่งผลักดันการรวบรวม การเปิดกว้างและการวิจัยข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มีความชัดเจนเด่นชัดยิ่งขึ้น ผ่านการปลดล็อคและประยุกต์ใช้ข้อมูลเหล่านี้ ตลอดจนร่วมสรรค์สร้างความทรงจำในประวัติศาสตร์ให้แก่ประชาชนชาวไต้หวันใหม่อีกครั้ง
 
ประการที่ 2 ในส่วนของการพิจารณาทบทวนความทรงจำทางประวัติศาสตร์ รัฐบาลได้รวบรวมพื้นที่ก่อเหตุทางประวัติศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยธรรม รวม 42 แห่ง ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลได้เร่งฟื้นฟูให้กลับมาคึกคักอย่างกระตือรือร้น ซึ่งพวกเราต้องเร่งส่งเสริมให้สถานที่เหล่านี้ พลิกบทบาทสู่การเป็นฐานการศึกษาด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังต่อไป
 
โดยในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา “โครงสร้างแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาว่าด้วยความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” ได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการนำเอาองค์ประกอบการส่งเสริมความยุติธรรมเข้าสู่ภาคการศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยได้มีการเร่งประชาสัมพันธ์ทั้งในสถานศึกษา กลุ่มเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและภาคประชาสังคม เป็นต้น
 
ประการที่ 3 ในด้านการจัดตั้งกลไกรองรับ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2022 “คณะกรรมการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” ได้ปฏิบัติภารกิจเบื้องต้นแล้วเสร็จ โดยสภาบริหารซึ่งเป็นหน่วยงานระดับสูงรับหน้าที่จัดการประชุม “รายงานว่าด้วยการผลักดันความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” รวมถึงบูรณาการและกำกับดูแลการดำเนินงานของทุกหน่วยงาน
 
ประการสุดท้าย ในด้านการบัญญัติระบบกฎหมาย “กฎหมายว่าด้วยข้อมูลทางราชการ” ได้มีการยื่นเสนอญัตติปรับปรุงแก้ไขแล้ว โดยได้มีการชี้แจงรายงานความคาดการณ์ในวันนี้ โดยปธน.ไช่ฯ คาดหวังที่จะเห็นข้อมูลทางราชการได้รับการนำไปประยุกต์ใช้โดยภาคประชาชนส่วนรวม ผ่านการแก้ไขข้อกฎหมายในครั้งนี้
 
ปธน.ไช่ฯ คาดหวังที่จะเห็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้รับการบัญญัติให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างให้ระบบกฎหมายมีความสมบูรณ์ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น