New Southbound Policy Portal
สำนักข่าว CNA วันที่ 4 มี.ค. 66
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศผลรางวัลนักวิทยาศาสตร์หญิงยอดเยี่ยมแห่งไต้หวัน (2023 Taiwan Outstanding Women in Science) ครั้งที่ 16 ประจำปี 2023 โดยมีดร. เฉินอวี้หรู นักวิจัยพิเศษจากสถาบันเคมีของสภาวิจัยแห่งชาติ (Institute of Chemistry, Academic Sinica) ซึ่งได้นำทีมนักวิจัยเข้าร่วม “โครงการ Cancer Moonshot” ที่เกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่าง 13 ประเทศ ในการจัดตั้งคลังข้อมูลมหัต (Big Data) ที่เก็บรวบรวมโปรติโอมิกส์ (Proteomics) ของผู้ป่วยมะเร็งปอดขึ้นเป็นแพลตฟอร์มแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เป็นผู้ได้รับรางวัล
“รางวัลนักวิทยาศาสตร์หญิงยอดเยี่ยมแห่งไต้หวัน” ซึ่งจัดขึ้นโดย L'Oréal Taiwan และWu Chien-Shiung Education Foundation ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 16 แล้ว โดยดร. เฉินอวี้หรูเป็นผู้คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์หญิงยอดเยี่ยมประจำปี ส่วน “รางวัลนักวิทยาศาสตร์หน้าใหม่ยอดเยี่ยมประจำปี” ที่จัดขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนแก่นักวิทยาศาสตร์หญิงหน้าใหม่ ตกเป็นของดร. หลินลี่ฮุย นักวิจัยจากสถาบันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ (Institute of Astronomy and Astrophysics) แห่งสภาวิจัยแห่งชาติ และรศ.ดร.หูปี้เหอ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University, NTU) ส่วน “ทุนการศึกษาม่งชุ่ยจู” ที่จัดขึ้นเพื่อมอบให้แก่ดุษฎีบัณฑิตที่มีศักยภาพด้านการวิจัย ผู้ที่ได้รับคือดร.เซี่ยหนีเอิน นักวิจัยที่ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่สถาบัน Institute of Low Temperature Science ของมหาวิทยาลัยฮอกไกโด (Hokkaido University) ในประเทศญี่ปุ่น
โดยดร. เฉินฯ ได้นำทีมนักวิจัยค้นคว้าวิจัยโปรติโอมิกส์และเทคนิคการดัดแปลงโมเลกุลหลังการถอดรหัส พร้อมทั้งคิดค้น “เทคนิคการตรวจสอบวิเคราะห์แมสสเปกโตรเมทรีด้วยหลักการนาโน” (NanoProbe-based MassSpectrometer) ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก อีกทั้งยังได้เข้าร่วมใน “โครงการ Cancer Moonshot” เมื่อปี 2017 เพื่อจัดตั้งข้อมูลมหัต (Big Data) ที่เก็บรวบรวมโปรติโอมิกส์ (Proteomics) ของผู้ป่วยมะเร็งปอด เป็นแพลตฟอร์มแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ดร. เฉินฯ กล่าวว่า ผู้หญิงไต้หวันส่วนมากไม่นิยมสูบบุหรี่ และไม่ค่อยได้ทำอาหารในครัวเรือน แต่กลับต้องประสบกับโรคมะเร็งปอด รายงานจากการวิจัยพบว่า อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม หากเทียบกับผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกาแล้ว พบว่าปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดเซลล์มะเร็งในกลุ่มสตรีของไต้หวัน มีส่วนเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศและวัตถุกันเสียที่เจือปนในอาหาร
“ยีนส์คือชีวิต โปรตีนคือโชคชะตา ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้” โดยดร. เฉินฯ ได้นำทีมวิจัยคิดค้นพัฒนาโครงการการตรวจสอบที่เกี่ยวข้อง โดยคาดหวังที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคมะเร็งให้น้อยลงในเร็ววัน
ดร. เฉินฯ กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์หญิงมีความอดทนและความมุ่งมั่นอุตสาหะเป็นอย่างสูง เรื่องราวความภาคภูมิใจที่ดร. เฉินฯ ได้ร่วมแบ่งปันในครั้งนี้ เกิดจากความมุ่งมั่นในการวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยดร. เฉินฯ เป็นคนแรกในเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่มีบุตร และเป็นคนแรกที่มีสถานะเป็นแม่ยายแล้ว
ดร. หลินลี่ฮุย นักวิจัยเจ้าของ “รางวัลนักวิทยาศาสตร์หน้าใหม่ยอดเยี่ยมประจำปี” ได้มุ่งมั่นวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของสภาพแวดล้อมขนาดใหญ่ต่อวิวัฒนาการของดาราจักร ซึ่งดร. หลินฯ เป็นนักดาราศาสตร์หญิงคนแรกที่ได้รับการคัดเลือกในการประกาศรางวัลนักวิทยาศาสตร์หญิงยอดเยี่ยม โดยหลายปีมานี้ ดร. หลินฯ ยังดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการสมาคมฟิสิกส์ไต้หวัน ซึ่งดร. หลินฯ ได้ส่งเสริมให้นักวิชาการที่มีใจรักในแวดวงวิทยาศาสตร์ สั่งสมความกระตือรือร้นและความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการประสานความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรอย่างกล้าหาญและสามัคคี
สำหรับดร. หูปี้เหอ อีกหนึ่งเจ้าของ “รางวัลนักวิทยาศาสตร์หน้าใหม่” ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านส่วนประกอบนาโนอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยและการออกแบบวงจรรวมหน่วยความจำ เป็นนักวิทยาศาสตร์และเป็นมารดาของบุตร 3 คน ซึ่งตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา ได้มุ่งมั่นในการสร้างสมดุลให้กับชีวิต ทั้งในด้านการทำงานและครอบครัว โดยดร. หูฯ เชื่อว่า คุณสมบัติด้านความใส่ใจในรายละเอียดของผู้หญิง จะช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานในห้องทดลองให้เกิดความคึกคักมากยิ่งขึ้น