New Southbound Policy Portal
คณะกรรมการกิจการการเกษตร วันที่ 7 มี.ค. 66
การประชุมว่าด้วยความร่วมมือทางเทคโนโลยีการเกษตร ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ปี 2023 ได้เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยMr. Simon Liu ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเกษตร (Agricultural Research Service, ARS) แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ ได้นำเจ้าหน้าที่วิจัย รวม 8 คน เดินทางเยือนไต้หวันเพื่อเข้าร่วมการประชุม นับเป็นคณะตัวแทนจากสหรัฐฯ ที่มีจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในการเดินทางมาเข้าประชุมในไต้หวัน โดยเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MoU) อย่างเป็นทางการของสถาบันวิจัยสุขอนามัยสัตว์แห่งไต้หวัน (Animal Health Research Institute) ที่ใช้ชื่อประเทศว่าไต้หวันในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ 2 องค์กรด้านการวิจัยระหว่างประเทศ อย่างสมาพันธ์วิจัยโรคมือ เท้าและปากโลก (Global Foot-and-Mouth Disease Research Alliance, GFRA) และสมาพันธ์วิจัยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรโลก (Global African Swine Fever Research Alliance, GARA) โดยทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือใน 4 ประเด็นหลักต่อในในภายภาคหน้า ประกอบด้วย “แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในภาคการเกษตร” “การเกษตรและการประมงแบบยั่งยืน” “อุตสาหกรรมป่าไม้ที่มีความเข้มแข็ง” และ “การบ่มเพาะและแลกเปลี่ยนทางบุคลากร” เป็นต้น
การประชุมในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับสถานการณ์ความคืบหน้าในประเด็นความร่วมมือตลอดช่วงปี 2022 ประกอบด้วย การเกษตรและอาหารและการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สุขอนามัยสัตว์ การผลิตปศุสัตว์ ทรัพยากรทางธรรมชาติและการเกษตรแบบยั่งยืน รวมถึงอาหารคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยประเด็นที่ควรค่าแก่การหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงคือ การก้าวสู่การเป็นประเทศสมาชิกขององค์กรการวิจัยระหว่างประเทศ อย่าง GFRA และ GARA ในนามไต้หวัน ผ่านการลงนาม MoU ของสถาบันวิจัยสุขอนามัยสัตว์แห่งไต้หวัน ซึ่งแต่เดิมสถาบันวิจัยสุขอนามัยสัตว์แห่งไต้หวันเป็นเพียงสมาชิกความร่วมมือเท่านั้น แต่เนื่องด้วยความมุ่งมั่นช่วยเหลือในการยื่นขออนุมัติจากฝ่ายรัฐบาลสหรัฐฯ และสำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในสหรัฐฯ ประกอบกับความสามารถด้านการวิจัยและความรู้ความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพของไต้หวัน ที่ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างในแวดวงการวิจัยที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้การยื่นสมัครได้รับการอนุมัติอย่างราบรื่น ก้าวสู่การเป็นประเทศสมาชิกเต็มตัว
นอกจากนี้ คณะกรรมการการเกษตร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ยังได้ฉกฉวยโอกาสการเดินทางมาเยือนไต้หวันของกลุ่มเจ้าหน้าที่ ARS ในครั้งนี้ จัดการประชุมเสวนาในประเด็น “การมุ่งสู่แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในภาคการเกษตร ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ” โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมแบ่งปันแนวทางการผลักดันและผลสัมฤทธิ์ในด้านต่างๆ ร่วมกัน ประกอบด้วย “การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์” “การเกษตรหมุนเวียน” และ “การดูแลสุขอนามัยปศุสัตว์” ทั้งนี้ เพื่อร่วมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงทางอาหาร เนื่องด้วยในระยะที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในแง่มุมต่างๆ ของภาคการเกษตร เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการยกระดับประสิทธิภาพ ทุ่นแรงและลดความเสี่ยง เป็นต้น โดยสหรัฐฯ นับว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในด้านการเกษตร การประชุมในครั้งนี้ ทางคกก.การเกษตรไต้หวัน จึงได้เชิญ Mr. Liu แห่ง ARS ร่วมแบ่งปัน “แนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในภาคการเกษตรของสหรัฐฯ” ซึ่งสามารถดึงดูดผู้สนใจจากภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการในไต้หวันเข้าร่วมเป็นจำนวนกว่า 200 คน โดยในวันที่ 9 มี.ค. ซึ่งเป็นวันปิดฉากการประชุมเสวนา Dr. Cyril Gay ประธานโครงการการผลิตและดูแลสุขอนามัยปศุสัตว์แห่งชาติสหรัฐฯ จะเข้าร่วมพูดคุยเสวนากับเจ้าหน้าที่วิจัยในหน่วยงานวิชาการของไต้หวัน เพื่อเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนทางการวิจัยในด้านการดูแลสุขอนามัยของปศุสัตว์ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการกระตุ้นแนวความคิดด้านการวิจัยให้แก่เจ้าหน้าที่ ตลอดจนเป็นการยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมให้แก่ไต้หวันไปในตัวด้วย