New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์ต่อนิตยสาร “The Economist” ของอังกฤษ ย้ำว่าการสนับสนุนจากมิตรสหายทั่วโลก ทำให้ไต้หวันไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 8 มี.ค. 66
 
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Ms. Alice Su ผู้สื่อข่าวของนิตยสาร “The Economist” ของอังกฤษที่ประจำการอยู่ในไต้หวัน โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของ The Economist ในหัวข้อ “ไต้หวัน — ฟอร์โมซาแนวหน้า” (Taiwan—Frontline Formosa) เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากทุกแวดวงในอังกฤษเป็นอย่างมาก และจะถูกตีพิมพ์ในนิตยสารรายสัปดาห์ที่จะวางตลาดในวันที่ 11 มี.ค. นี้ด้วย
 
รมว.อู๋ฯ แสดงทรรศนะต่อประเด็นพฤติกรรมการสร้างแรงกดดันต่อลิทัวเนียของรัฐบาลจีน โดยระบุว่า แม้ว่าจะต้องเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากจีน แต่ลิทัวเนียยังคงยืนหยัดในการติดต่อและแลกเปลี่ยนกับไต้หวันอย่างต่อเนื่อง โดยความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายได้รับการส่งเสริมให้เป็นไปในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ H.E. Petr Pavel ประธานาธิบดีคนใหม่แห่งสาธารณรัฐเช็ก มิได้หวั่นเกรงต่อแรงกดดันจากจีน พร้อมแสดงความคาดหวังที่จะร่วมหารือพูดคุยกับประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่า คนส่วนมากไม่รู้สึกว่า “การที่จีนไม่พอใจ” เป็นสัญญาณเตือนภัยอย่างหนึ่ง แต่กลับมองว่าพฤติกรรมการตอบโต้ต่อกลุ่มประเทศที่พัฒนาความสัมพันธ์กับไต้หวันของจีน เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
 
เมื่อปีที่แล้ว จีนใช้ข้ออ้างจากการที่นางแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน มาทำการซ้อมรบครั้งใหญ่ในพื้นที่รอบน่านน้ำไต้หวัน โดยรมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า รัฐบาลจีนไม่มีสิทธิ์ก้าวก่ายเรื่องภายในของไต้หวัน รวมไปถึงแนวทางการไปมาหาสู่กับประชาคมโลกของไต้หวัน ซึ่งไต้หวันพร้อมเปิดให้การต้อนรับมิตรสหายจากทั่วทุกพื้นที่เดินทางมาเยือนไต้หวันอย่างเสรี โดยการสนับสนุนจากมิตรต่างชาติในทุกรูปแบบ ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างความมั่นใจให้ชาวไต้หวันรู้ว่า “พวกเราไม่โดดเดี่ยว” นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้เร่งเสริมสร้างแสนยานุภาพทางการทหารที่ยังขาดความสมดุล พร้อมเร่งผลักดันการปฏิวัติทางการทหารอย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมพร้อมในการปกป้องประเทศชาติด้วยการพึ่งพาตนเอง ตลอดจนแสวงหาพลังสนับสนุนจากประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับความเป็นไปได้ที่จีนอาจเข้ารุกรานไต้หวัน
 
สำหรับสถานการณ์ความคืบหน้าของการที่ไต้หวันยื่นขออนุมัติเข้าเป็นสมาชิกของ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (CPTPP) รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า ประเทศสมาชิกหลักอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลียและแคนาดา ต่างก็ให้การยอมรับว่า ไต้หวันมีคุณสมบัติสอดคล้องกับกฎระเบียบมาตรฐานสูงภายใต้กรอบความตกลง ซึ่งตราบจนปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย แต่เนื่องจากจีนก็ยื่นขออนุมัติเข้าร่วมด้วยเช่นกัน เมื่อพิจารณาจากอิทธิพลของจีนที่มีต่อเศรษฐกิจโลก ประเทศสมาชิกจึงระมัดระวังเป็นพิเศษในการชั่งน้ำหนัก ระหว่างการยอมรับไต้หวันเข้าเป็นสมาชิก และการเผชิญหน้ากับการตอบโต้ที่อาจเกิดขึ้นจากจีน
 
ต่อกรณีสงครามรัสเซีย - ยูเครน รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า หลังจากที่ยูเครนถูกรุกรานโดยรัสเซีย รัฐบาลไต้หวันก็ตัดสินใจประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียในทันที พร้อมทั้งบริจาคเวชภัณฑ์ทางการแพทย์จำนวน 27 ตัน และระดมสิ่งของจำเป็นเพื่อการบริจาคอีกกว่า 600 ตัน รวมทั้งบริจาคเงิน 33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อส่งมอบให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนอย่างเร่งด่วน ผ่านกลุ่มประเทศรายรอบอย่างโปแลนด์ สโลวัก เช็กและลิทัวเนีย โดยไต้หวันได้ให้การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือต่อยูเครนอย่างเป็นรูปธรรมโดยสุดกำลัง นอกจากนี้ หลังสถานกรณ์สงครามรัสเซีย – ยูเครน ไต้หวันก็ยิ่งเพิ่มความระแวดระวังต่อการก่อสงครามจิตวิทยาและการเผยแพร่ข่าวปลอมโดยจีน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการบั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคประชาชนที่มีต่อรัฐบาลไต้หวัน ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความมั่นคงและสันติภาพในพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน
 
โดยรายงานในหัวข้อพิเศษนี้ มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน รวม 8 บทความ ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านความท้าทายในแง่มุมต่างๆ ที่ไต้หวันต้องเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย การข่มขู่จากจีน เศรษฐกิจการค้า การทหาร ประวัติศาสตร์ การเมืองและการยอมรับทางสถานภาพของตนเอง เป็นต้น พร้อมทั้งเป็นการชี้แจงว่า ขณะนี้เป็นโอกาสอันดีที่ไต้หวันจะแสดงให้เห็นถึงความทรหดทางประชาธิปไตย ตลอดจนเรียกร้องให้ประชาคมโลกอย่าเพิกเฉยและร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างต่อเนื่องต่อไป