New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าว Bloomberg ของสหรัฐฯ พร้อมย้ำ มิใช่ว่าจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงสงครามได้ หากจีนเข้ารุกรานไต้หวันตามอำเภอใจ อาจได้รับบทเรียนราคาแพง

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 22 มี.ค. 66
 
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Nisid Hajari ผู้สื่อข่าวอาวุโสของสำนักข่าว Bloomberg ของสหรัฐฯ โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์สำนักข่าว ภายใต้หัวข้อ “โลกในมุมมองของรมว.กต.ไต้หวัน” (How Taiwan’s Top Diplomat Sees the World) ซึ่งได้รับการให้ความสนใจในวงกว้างจากทั่วโลก
 
ต่อกรณีสถานภาพทางการทูตของไต้หวัน รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า การผูกสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างประเทศพันธมิตรมีความสำคัญต่อไต้หวันเป็นอย่างมาก ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มประเทศพันธมิตรต่างร่วมเป็นกระบอกเสียงในการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น สหประชาชาติ (UN) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เป็นต้น
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่จีนแย่งชิงประเทศพันธมิตรของไต้หวัน นอกจากจะเป็นการแข่งขันทางการทูตระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันแล้ว ยังเป็นแผนยุทธศาสตร์ทางการทหารของจีน ที่ใช้ในการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการไปสู่ทั่วโลก โดยในปี 2019 หลังจากที่จีนชักจูงให้สาธารณรัฐคิริบาสและหมู่เกาะโซโลมอนยุติความสัมพันธ์กับไต้หวัน และหันไปผูกสัมพันธ์กับจีนแทน ในช่วงเวลานั้น ไต้หวันเคยแจ้งเตือนต่อกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ให้ระแวดระวังกับดักที่จีนใช้ชักจูงให้หลงเชื่อ โดยในเดือนเมษายน ปี 2021จีน – หมู่เกาะโซโลมอนได้ร่วมลงนามข้อตกลงทางความมั่นคงระหว่างกัน จึงทำให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยประจักษ์เห็นถึงความทะเยอทะยานอย่างไม่สิ้นสุดของรัฐบาลจีน ซึ่งถือเป็นเครื่องเตือนใจให้แก่ทั่วโลกด้วยเช่นกัน
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า นอกจากจีนจะขัดขวางการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตของไต้หวันและประชาคมโลกแล้ว ยังบ่อนทำลายประชาธิปไตยของไต้หวัน ด้วยการโจมตีทางไซเบอร์ การเผยแพร่ข่าวปลอมและสงครามจิตวิทยา เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ พลังสนับสนุนจากประชาคมโลกจึงมีความสำคัญต่อไต้หวันเป็นอย่างมาก ไต้หวันขอขอบคุณสำหรับพลังสนับสนุนจากประชาคมโลกอันหนักแน่นที่มีต่อไต้หวันเสมอมา ประสบการณ์จากสงครามรัสเซีย – ยูเครน ทำให้พวกเราตระหนักเห็นว่าพลังสนับสนุนจากประชาคมโลก เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยูเครนประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับรัสเซีย
 
รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า จีนมักกล่าวอ้างอยู่เสมอว่า สหรัฐฯ มีเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบัน ส่วนไต้หวันก็แสวงหาแนวทางที่จะแยกตัวเป็นเอกราช พร้อมทั้งเรียกขานพวกเราว่าเป็น “กลุ่มกบฎเพื่อแสวงหาความเป็นเอกราช” แต่ในความเป็นจริงคือรัฐบาลไต้หวัน ซึ่งรวมไปถึงรมว.อู๋ฯ ต่างยึดมั่นในจุดยืนว่าด้วยการธำรงรักษาสถานภาพในปัจจุบัน มุ่งมั่นในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันอย่างเต็มที่ ในมุมกลับกัน ตลอดที่ผ่านมา จีนมักส่งเครื่องบินรบและเรือรบเข้ารุกล้ำเส้นกึ่งกลางช่องแคบไต้หวันอยู่เป็นประจำ พร้อมทั้งกล่าวอ้างว่าน่านน้ำไต้หวันมิใช่น่านน้ำสากล ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่ยุยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบัน โดยเรือบรรทุกสินค้ากว่าร้อยละ 40 จากสหภาพยุโรป ต่างได้มีการแล่นผ่านน่านน้ำไต้หวันเป็นประจำ พฤติกรรมของจีนจึงนับว่าเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาคมโลก
 
ต่อกรณีคำถามที่ว่า ท้ายที่สุดแล้ว สองฝั่งช่องแคบไต้หวันอาจปิดฉากลงด้วยสงครามหรือไม่นั้น รมว.อู๋ฯ กล่าวว่ามิใช่ว่าจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงสงครามได้ และไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วน ไต้หวันเป็นหนึ่งในสมาชิกของประชาคมโลกที่เปี่ยมด้วยความรับผิดชอบ โดยพวกเรายึดมั่นในแนวทางความรับผิดชอบ ด้วยการหลีกเลี่ยงการก่อข้อพิพาทเพื่อสร้างความขัดแย้งในสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทั่วโลกพึงเฝ้าจับตาคือ หากจีนต้องการเบี่ยงเบนวิกฤตสถานการณ์ที่เกิดจากการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ จนอาจส่งผลให้อำนาจเผด็จการที่มีอยู่เกิดความสั่นคลอน ด้วยการพุ่งเป้ามารุกล้ำดินแดนไต้หวันด้วยกำลังทหาร จนทำให้ไต้หวันต้องกลายเป็นแพะรับบาปในที่สุด
 
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ประชาชนชาวไต้หวันต่างตระหนักดีถึงภัยคุกคามจากจีน เพื่อการเอาตัวรอด และเพื่อค่านิยมด้านประชาธิปไตย เสรีภาพและอำนาจอธิปไตยของประเทศชาติ พวกเราจำเป็นต้องเสริมสร้างศักยภาพการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง ตลอดจนแสวงหาพลังสนับสนุนจากประชาคมโลกอย่างกระตือรือร้น ไต้หวันเป็นอาณาจักรแห่งเซมิคอนดักเตอร์ หากไต้หวันต้องเผชิญกับการทำสงครามกับจีน จะก่อให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะไต้หวันเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ทั่วโลกก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน หากจีนเข้ารุกรานไต้หวันตามอำเภอใจ จะต้องพบกับการสูญเสียภาพพจน์ของประเทศชาติ รวมไปถึงจะได้รับบทเรียนราคาแพงในการเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรจากนานาประเทศทั่วโลกด้วย