New Southbound Policy Portal

ไต้หวัน – เยอรมนีร่วมลงนามความตกลงด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างกัน

กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 23 มี.ค. 66
 
การผลักดันการทูตด้านกระบวนการยุติธรรมทางคดีอาญาโดยกระทรวงยุติธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มีความก้าวหน้าขึ้นอีกขั้น ซึ่งสามารถสรุปใจความโดยสังเขป ได้ดังนี้
 
ไต้หวันและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปร่วมลงนามความตกลงทางความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรมทางคดีอาญา ครั้งที่ 7 โดยพิธีการลงนามมีกำหนดการจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา ณ กระทรวงยุติธรรม โดยมีนายเซี่ยจื้อเหว่ย ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำเยอรมนี และ Dr. Jörg Polster ผู้อำนวยการสถาบันเยอรมนีในไต้หวัน เข้าร่วมลงนาม “ความตกลงทางความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรมทางคดีอาญา” ระหว่าง 2 หน่วยงาน พร้อมนี้ ยังมีนายไช่ชิงเสียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายเถียนจงกวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการสร้างความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรมระหว่างไต้หวัน – กลุ่มประเทศยุโรป แสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ที่ไต้หวันมุ่งมั่นส่งเสริมการยกระดับกระบวนการความยุติธรรมให้ขึ้นสู่ระดับสากล จนได้รับการยอมรับจากภายนอกอย่างเต็มที่
 
โดยความตกลงทางความร่วมมือข้างต้น ไต้หวัน – เยอรมนี ได้ส่งมอบความช่วยเหลือด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างกัน บนใต้พื้นฐานของหลักการทางมนุษยธรรม ความมั่นคง ความรวดเร็ว ความเรียบง่ายและการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยขอบเขตทางความร่วมมือ ประกอบด้วย การสอบปากคำผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ การปล่อยตัวผู้ต้องขัง การตรวจค้นและอายัดทรัพย์สิน การจัดตั้งทีมสืบสวนสอบสวนร่วม การยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรม และการแบ่งปันทรัพยากร เป็นต้น ซึ่งสามารถยกระดับประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และร่วมปราบปรามการก่ออาชญากรรมข้ามพรมแดนในภายภาคหน้า
 
รมว.ไช่ฯ กล่าวว่า ไต้หวัน – เยอรมนีเป็นประเทศที่ยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตย เสรีภาพและหลักนิติธรรม ถือเป็นประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน นับตั้งแต่ที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนาม “ความตกลงว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการบังคับใช้มาตรการการลงโทษ” ตั้งแต่ปี 2013 ตราบจนปัจจุบัน ได้มีการส่งมอบผู้ร้ายข้ามแดนคืนให้แก่กัน รวมแล้ว 7 ราย โดยหลังเสร็จสิ้นการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในกระบวนการยุติธรรมทางคดีอาญาครั้งนี้ เราจะเร่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างกัน โดยรมว.ไช่ฯ ระบุว่า ขณะนี้ ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับความท้าทายนานาประการ ทั้งสงคราม โรคภัยและการก่ออาชญากรรมข้ามพรมแดน มีเพียงการประสานความร่วมมือระหว่างกันเท่านั้น จึงจะสามารถรับมือและส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่กันอย่างทันท่วงที รวมไปถึงสามารถร่วมปราบปรามการก่ออาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
โดยสาระสำคัญในความตกลง ได้ให้ความสำคัญต่อการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ และความต้องการในการปราบปรามการก่ออาชญากรรม ซึ่งรวมไปถึงการจัดตั้งทีมสืบสวนสอบสวนร่วม การอายัดและจัดสรรทรัพย์สิน การสอบปากคำผู้ต้องหาผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ เป็นต้น รายการความร่วมมือมีความหลากหลายครอบคลุม โดยในจำนวนนี้ การจัดการและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีส่วนเชื่อมโยงกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเปิดบริบททางความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรมระหว่างไต้หวัน - กลุ่มประเทศใน EU รวมไปถึงการประสานความร่วมมือด้านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความสมบูรณ์ด้านหลักประกันในการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนชาวไต้หวันและกลุ่มประเทศสมาชิก EU ในภายภาคหน้าต่อไป
 
รมว.ไช่ฯ ให้ความสำคัญต่อการจัดตั้งความสัมพันธ์ทางความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรม ระหว่างไต้หวันและนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งตราบจนปัจจุบันบังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัด โดยกลุ่มประเทศที่มีการร่วมลงนามในความร่วมมือหรือบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเชิงกระบวนการยุติธรรมแบบทวิภาคี ได้แก่ โปแลนด์ นาอูรู เบลีซ สโลวัก เซนต์วินเซนต์ ปาเลา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและเยอรมนี แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการประสานความร่วมมือ ระหว่างไต้หวันและนานาประเทศทั่วโลกในการปราบปรามอาชญากรรม โดยในอนาคต กระทรวงยุติธรรมจะขยายความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น โดยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะก้าวข้ามกรอบจำกัดของพรมแดน เพื่อส่งเสริมให้การทูตด้านกระบวนการยุติธรรมทางคดีอาญามีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ