New Southbound Policy Portal

รองปธน.ไล่ชิงเต๋อ เข้าร่วม “การประชุมนานาชาติว่าด้วยเมืองปลอดก๊าซเรือนกระจก” หวังเชื่อมโยงความร่วมมือด้านการพัฒนาเมืองระหว่างประเทศ เพื่อเร่งฝีเท้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

ทำเนียบประธานาธิบดีและคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ  วันที่ 28 มี.ค. 66
 
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา“การประชุมนานาชาติว่าด้วยเมืองปลอดก๊าซเรือนกระจก” ที่จัดโดยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (NDC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เปิดฉากขึ้น โดยได้เชิญนายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ Ms. Markéta Pekarová Adamová ประธานสภาผู้แทนราษฎรสาธารณรัฐเช็ก รวมไปถึงแขกผู้มีเกียรติ จำนวนกว่า 400 คนจาก 115 เมือง/ จังหวัดทั่วโลก เข้าร่วมการประชุม เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนในประเด็นแนวทางการเสริมสร้างเมืองให้มีการพัฒนาไปในทิศทางที่เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น เนื่องจากอนาคตของเมืองคืออนาคตของสังคม โดยในระหว่างการประชุม นายกงหมิงซิน ประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติไต้หวัน ได้ให้การต้อนรับ Mr. Bondarenko รองนายกเทศมนตรีกรุงเคียฟ ที่พิชิตอุปสรรคนานาประการเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในไต้หวัน ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า ไต้หวันไม่โดดเดี่ยว เนื่องจากมีมิตรสหายอยู่รายล้อมรอบตัว
 
นายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวในระหว่างการเข้าร่วม “การประชุมนานาชาติว่าด้วยเมืองปลอดก๊าซเรือนกระจก” โดยระบุว่า ทุกพื้นที่ทั่วโลกต่างเป็นประเทศแนวหน้าในการสกัดกั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการร่วมระดมความคิด ตลอดจนร่วมมุ่งมั่นพิชิตเป้าหมายไปด้วยกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวันนี้ พรุ่งนี้หรือวันไหนๆ ในภายภาคหน้า “พวกเราพร้อมจะเผชิญหน้าร่วมกัน” เชื่อว่าจะมีแนวทางที่สามารถแก้ไขวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน
 
รองปธน.ไล่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม “การประชุมนานาชาติว่าด้วยเมืองปลอดก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2050” (2050 Net Zero City Expo) โดยในฐานะตัวแทนประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสให้การต้อนรับแขกผู้มีเกียรติจาก 112 เมืองใน 43 ประเทศทั่วโลก ที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมที่จัดขึ้นครั้งนี้ โดยรองปธน.ไล่ฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อ Ms. Adamová ประธานสภาผู้แทนราษฎรสาธารณรัฐเช็กและคณะตัวแทน ที่เดินทางมาเยือนไต้หวันในระยะนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนและการแสดงความเป็นมิตรต่อไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม
 
รองปธน.ไล่ฯ เผยว่า ในระหว่างการแสดงปาฐกถาของ Ms. Adamová ได้มีการระบุว่า รัฐบาลสาธารณรัฐเช็กจะยืนเคียงข้างไต้หวันไม่ว่าจะในปัจจุบันหรือในอนาคต และจะเป็นเช่นนี้ไม่ว่าจะเวลาจะล่วงเลยผ่านไปนานเพียงใดก็ตาม รองปธน.ไล่ฯ จึงอยากขออ้างอิงคำพูดของ Ms. Adamová เพื่อเน้นย้ำต่อประชาชนชาวยูเครนว่า ไต้หวันจะยืนเคียงข้างพันธมิตรด้านประชาธิปไตยและยูเครนตลอดไป ไม่ว่าจะวันนี้ วันข้างหน้า หรือสถานการณ์ใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และจะเป็นเช่นนี้เสมอไปตราบนานเท่านาน
 
รองปธน.ไล่ฯ แถลงว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ นอกจากจะเป็นประเด็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเมือง การบริหารงานภาคสังคม ตลอดจนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินชีวิตของมวลมนุษยชาติ องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, IEA) ประเมินว่า ปริมาณการใช้พลังงานในพื้นที่ต่างๆ ครองสัดส่วนอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณร้อยละ 67 ทั่วโลก
 
นอกจากนี้ Ms. Adamová ยังกล่าวขณะปราศรัยว่า เช็ก – ไต้หวันมีพื้นฐานทางความร่วมมือในด้านการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ โดยสาธารณรัฐเช็กเปี่ยมด้วยศักยภาพทางการแข่งขันระดับโลกในด้านการรีไซเคิลแบตเตอรี่ การผลิตพลังงานไฮโดรเจน เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน และการผลิตอากาศยานไร้คนขับ เป็นต้น โดย Ms. Adamová คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แผนโซลูชันที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้จะสามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศให้เป็นไปในทิศทางเชิงลึกต่อไป
 
นายกงหมิงซิน ประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของประชาสังคม และเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันของทุกเมืองบนโลกใบนี้ ตราบจนปัจจุบัน ทั่วโลกมี 246 เมือง ได้กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดย 6 กรุง / นครในไต้หวันต่างก็ตั้งเป้าหมายไว้ในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า นานาประเทศต่างมุ่งมั่นร่วมผลักดันการเปลี่ยนผ่านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์อย่างกระตือรือร้น ควบคู่ไปกับการแสวงหาโอกาสธุรกิจในอนาคต
 
นอกจากนี้ นายกงฯ ยังได้ระบุเพิ่มเติมว่า เพื่อขานรับนิทรรศการเมืองปลอดก๊าซเรือนกระจก NDC ยังได้ประสานความร่วมมือกับทบวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและหน่วยงานต่างๆ ในสังคม จัดรวบรวมแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ 12 ประการหลัก ฉบับภาษาอังกฤษ อัปโหลดลงบนเว็บไซต์ทางการ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในแวดวงที่เกี่ยวข้อง