New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 30 มี.ค. 66
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ของปี 2022 นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Michael Müller ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีของสถานีโทรทัศน์เยอรมนี - ฝรั่งเศส (Arte) โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่ผ่านรายการพิเศษ ซึ่งมีความยาวรวม 1 ชั่วโมง เพื่อรายงานบทวิเคราะห์ในประเด็นการข่มขู่ไต้หวันด้วยกำลังทหารของจีนและสถานการณ์ช่องแคบไต้หวัน ซึ่งนอกจากจะเริ่มต้นรายการและปิดท้ายด้วยการทักทายของรมว.อู๋ฯ แล้ว เนื้อหาในสารคดียังได้มีการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจและกระแสตอบรับในทิศทางที่ดีจากประชาชนทุกแวดวงในเยอรมนีและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปที่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาทางการ
รมว.อู๋ฯ กล่าวระหว่างการสัมภาษณ์ว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 ที่ผู้นำจีนได้ประกาศ “ข้อความถึงเพื่อนร่วมชาติในไต้หวัน” ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในวาระครบรอบ 40 ปีแห่งการปฏิรูปและการเปิดประเทศของจีน มาจนถึงแถลงการณ์การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 เราจะสามารถเห็นได้ชัดว่า ผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้วาดฝันเป้าหมายสูงสุดของประเทศ ด้วยการครอบครองไต้หวัน โดยจีนจะไม่ล้มเลิกการเข้ารุกรานไต้หวันด้วยกำลังอาวุธ ซึ่งถือเป็น’เรื่องที่อันตรายมาก และจนทุกวันนี้ จีนก็ยังมิได้เผยเจตนารมณ์ที่จะเจรจากับไต้หวันอย่างสันติ โดยเรียกร้องให้ไต้หวันให้การยอมรับต่อ “หลักการจีนเดียว” เสียก่อน ซึ่งนั่นเป็นเงื่อนไขที่ประชาชนชาวไต้หวันไม่สามารถยอมรับได้
รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า จีนได้เพิ่มแรงกดดันต่อไต้หวันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังเห็นได้จากตัวอย่างของสถานการณ์ในฮ่องกงเมื่อไม่นานมานี้ ประกอบกับประชาชนชาวไต้หวันส่วนมากไม่เชื่อในระบบการปกครองแบบ “1 ประเทศ 2 ระบอบ” ของจีน เนื่องจากพวกเราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฮ่องกงแล้วว่า หากกลุ่มประเทศประชาธิปไตยไม่ร่วมหยุดยั้งพฤติกรรมของจีน รัฐบาลจีนก็จะแผ่ขยายลัทธิอำนาจนิยมและการปกครองด้วยระบอบเผด็จการไปสู่นานาประเทศ ซึ่งไต้หวันเป็นหนึ่งในเป้าหมายนั้น
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า จาก “นโยบายผู้ป่วยโควิด – 19 เป็นศูนย์” ที่จีนใช้ในการสกัดกั้นโรคระบาด สามารถเห็นได้ว่า ความสงบเรียบร้อยภายใต้การนำของรัฐบาลปักกิ่ง มีความโหดร้ายมากเพียงใด ซึ่งนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ถดถอยและปัญหาร้ายแรงที่จีนต้องเผชิญหน้า โดยไต้หวันจำเป็นต้องระแวดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะต้องตกเป็นแพะรับบาปสำหรับเรื่องนี้
รมว.อู๋ฯ วิเคราะห์ว่า เมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว จีนใช้ข้ออ้างจากการที่นางแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน มาใช้เพื่อทำการซ้อมรบครั้งใหญ่ในน่านน้ำรอบไต้หวัน หากมองจากภาพรวมของสถานการณ์จะเห็นได้ว่า จีนกำลังอาศัยโอกาสนี้จำลองแผนการบุกโจมตีไต้หวันด้วยกำลังทหาร ที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้า ซึ่งนอกจากจะอาศัยแรงกดดันทางการทหารแล้ว จีนยังโจมตีไต้หวันด้วยแรงกดดันทางเศรษฐกิจ การโจมตีทางไซเบอร์ การแพร่กระจายข่าวปลอมและสงครามจิตวิทยา โดยสถานการณ์ความขัดแย้งอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด
รมว.อู๋ฯ ชี้อีกว่า การปกป้องประเทศชาติคือหน้าที่ความรับผิดชอบของพวกเราชาวไต้หวัน ซึ่งพวกเราไม่มีสิทธิเรียกร้องให้สหรัฐฯ และประชาคมโลกมาร่วมปกป้องไต้หวัน ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงเร่งจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อย่างกระตือรือร้น ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมด้านการป้องกันประเทศของภาครัฐและภาคประชาชน นอกจากนี้ พวกเรายังต้องการความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และนานาประเทศ ในการส่งมอบอาวุธเพื่อใช้ในการป้องกันประเทศ รวมไปถึงการจัดตั้งการแลกเปลี่ยนทางความมั่นคงร่วมกันกับไต้หวัน ซึ่งที่จริงแล้ว สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันประเทศให้แก่ไต้หวันอย่างครอบคลุมเสมอมา
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า หากอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในไต้หวันประสบกับภาวะหยุดชะงักแล้ว ทั่วโลกก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงตามไปด้วย ซึ่งไม่เว้นแม้แต่จีน โดยนายหลี่ฉุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานคณะกรรมการบริหารระดับอาวุโสของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจไต้หวัน ฝ่ายกิจการองค์การการค้าโลก (WTO) และข้อตกลงทางการค้าระหว่างภูมิภาค (RTA) ก็ให้สัมภาษณ์ว่า สินค้าหลักของการค้าระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันส่วนมากจะเป็นชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งแผ่นเวเฟอร์ของบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) กว่าร้อยละ 85 ผลิตในไต้หวัน หากไต้หวันสูญเสียความสามารถในการเป็นผู้นำระดับโลกด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน