New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 8 เม.ย. 66
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา นายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ Mr. Michael McCaul ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ และคณะตัวแทน โดยรองปธน.ไล่ฯ คาดหวังที่จะเห็นกลุ่มประเทศประชาธิปไตยประสานความสามัคคี เพื่อร่วมธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและประชาธิปไตย โดยไต้หวันยินดีที่จะสวมบทบาทสำคัญในเชิงบวก ด้วยการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างมีเสถียรภาพไปทั่วโลก
รองปธน.ไล่ฯ แถลงว่า ตลอดช่วงปีกว่ามานี้ หลายประเทศได้ทยอยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสิ้นสุดสถานการณ์โรคโควิด – 19 แต่ถึงกระนั้นสถานการณ์ในประชาคมโลกก็ยังไม่สงบนิ่ง เนื่องจากลัทธิอำนาจนิยมได้ฉกฉวยโอกาสในการแสดงอำนาจ ด้วยการรุกรานประเทศภายนอก และก่อสงคราม อันจะเห็นได้จากกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน การซ้อมรบของจีนในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งสร้างความวุ่นวายโกลาหลให้เกิดขึ้นในประชาคมโลกอย่างไม่สิ้นสุด เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อน แม้ว่าไต้หวันจะตั้งอยู่ในแนวหน้าที่ต้องเผชิญกับประเทศลัทธิอำนาจนิยม แต่รองปธน.ไล่ฯ ได้ประกาศชัดเจนว่า ไต้หวันมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องความมั่นคงของประเทศชาติ ควบคู่ไปกับการธำรงรักษาประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ตลอดจนคาดหวังที่จะสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ในการร่วมธำรงสันติภาพและเสถียรภาพทั่วโลกให้คงอยู่สืบไป
รองปธน.ไล่ฯ ชี้ว่า ความมั่นคงของประเทศชาติและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า นอกจากจะสามารถสร้างผลประโยชน์ระหว่างภาคประชาชนและภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการส่งเสริมความสมบูรณ์ของระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมโลก ซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของโลก รองปธน.ไล่ฯ จึงใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อพลังสนับสนุนของรัฐสภาสหรัฐฯ ในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ด้วย “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” ที่ได้มีการเปิดการเจรจาครั้งแรกไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา รองปธน.ไล่ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายร่วมลงนามความตกลงทางการค้าแบบทวิภาคี ควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคีในเชิงลึกต่อไป
เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดเลี้ยงอาหารเที่ยงต้อนรับ Mr. Michael McCaul ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ และคณะตัวแทน ณ อาคารรับรองอาคันตุกะ กรุงไทเป โดยปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ที่ได้บรรลุคำมั่นด้านความมั่นคงที่มีต่อไต้หวัน ผ่านการบัญญัติกฎหมาย อันเกิดจากความมุ่งมั่นประสานความร่วมมือของสมาชิกสภาแบบข้ามพรรค เช่น “กฎหมายว่าด้วยการมอบอำนาจทางกลาโหม” (National Defense Authorization Act) และ “กฎหมายควบคุมการเบิกจ่ายงบประมาณรวม” (Consolidated Appropriations Act) ที่ปรากฎในรายงานงบประมาณประจำปี 2023 ก็ได้มีการกำหนดข้อตกลงว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาคหลายรายการ รวมไปถึงข้อเรียกร้องว่าด้วยการสนับสนุนไต้หวันในการยกระดับแสนยานุภาพด้านการป้องกันประเทศ
นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ คาดหวังที่จะเห็น ไต้หวัน - สหรัฐฯ ร่วมเปิดการเจรจาอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้กรอบ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” เพื่อสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนให้เกิดความแนบแน่นมากยิ่งขึ้น พร้อมนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังเน้นย้ำว่า ไต้หวันจะสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่อไป เพื่อร่วมธำรงรักษาค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพให้คงอยู่ต่อไป
ปธน.ไช่ฯ แถลงอีกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐสภาสหรัฐฯ เป็นพลังสำคัญในการผลักดันการพัฒนาความสัมพันธ์ ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ โดยเฉพาะบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ Mr. McCaul ยิ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยหลังเสร็จสิ้นการประชุมรัฐสภาวาระล่าสุดที่ผ่านมาในปีนี้ เหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้ร่วมลงมติผ่าน “กฎหมายบรรลุคำมั่นที่มีต่อไต้หวัน” ด้วยคะแนนเสียงที่เป็นเอกอฉันท์ นับเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์แบบทวิภาคีเป็นไปในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น
ปธน.ไช่ฯ เห็นว่า หลายปีมานี้ เมื่อต้องเผชิญกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ นับวัน ความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศประชาธิปไตยจะยิ่งมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นทุกที ปธน.ไช่ฯ จึงขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า ประชาชนชาวไต้หวันยึดมั่นในประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการแสวงหาสันติภาพ และจะมุ่งมั่นในหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก โดยพวกเราจะเร่งสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมธำรงรักษาค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพให้คงอยู่สืบไป
ปธน.ไช่ฯ กล่าวด้วยว่า การที่เหล่าสมาชิกสภาต่างให้ความสำคัญต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน และความสนับสนุนที่รัฐสภาสหรัฐฯ มีต่อไต้หวัน ล้วนแล้วแต่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ก้าวหน้าไปอีกลำดับขั้น จึงคาดหวังที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นสร้างความร่วมมือระหว่างกันในเชิงลึกต่อไป
ในลำดับต่อมา เป็นการกล่าวปราศรัยของ Mr. McCaul ซึ่งได้เอ่ยทักทายเป็นภาษาจีนที่มีความหมายว่า “พวกเรารักไต้หวัน” พร้อมทั้งแสดงความยินดีต่อปธน.ไช่ฯ สำหรับการเดินทางเยือนกลุ่มประเทศพันธมิตรในช่วงที่ผ่านมาอย่างราบรื่น โดย Mr. McCaul ให้การยกย่องปธน.ไช่ฯ ว่าเป็นผู้นำไต้หวันที่มีความกล้าหาญ โดยการเดินทางเยือนไต้หวันของคณะตัวแทนในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตและพรรคริพับลิกันแล้ว ยังเป็นตัวแทนของประชาชนชาวสหรัฐฯ ที่ร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มกำลัง
Mr. McCaul แสดงทรรศนะว่า กลุ่มประเทศประชาธิปไตยควรประสานสามัคคีในการสกัดกั้นระบอบเผด็จการและการสร้างแรงกดดัน ไม่ว่าจะเป็นการรุกรานโจมตียูเครนอย่างไม่มีสาเหตุของวลาดีมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย หรือพฤติกรรมการรุกรานดินแดนไต้หวันหรือพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิกของจีน นับเป็นครั้งแรกที่พวกเราได้ประจักษ์เห็นถึงดุลอำนาจของโลกกำลังเกิดการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นับตั้งแต่หลังจากสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
Mr. McCaul ชี้ว่า ในระหว่างการเดินทางเยือนไต้หวันครั้งนี้ คณะตัวแทนได้ร่วมพบปะหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหลายฝ่ายของไต้หวัน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไปจนถึงเทคโนโลยีอวกาศ ไต้หวันเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาอย่างเจริญรุ่งเรือง และมีความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มั่นคงกับสหรัฐฯ ถือเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของสหรัฐฯ โดยเสรีภาพในการเดินเรือ เป็นปัจจัยสำคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของไต้หวันและประชาคมโลก
Mr. McCaul กล่าวอีกว่า จีนมองพลังสามัคคี การเปิดกว้างและความทรหดของไต้หวัน เป็นเหมือนหนามทิ่มแทงใจ ซึ่งสิ่งที่จีนกลัวมากที่สุดก็คือประชาชนของตนเอง ดังนั้นขอประชาชนชาวจีนที่ได้รับแรงกดดันมองมาที่ไต้หวัน ซึ่งอยู่ในฝั่งตรงข้ามของช่องแคบไต้หวัน ก็สามารถประจักษ์ได้ถึงต้นแบบของประชาธิปไตย
Mr. McCaul แถลงว่า เฉกเช่นที่ปธน.ไช่ฯ ได้กล่าวไว้ว่า รัฐสภาสหรัฐฯ ได้มีมติผ่าน “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” ในปีค.ศ. 1979 ซึ่งเป็นการปูรากฐานความสัมพันธ์อันดีในการแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ มาตราบจนปัจจุบัน โดยเป็นหลักประกันว่า สหรัฐฯ จะอนุมัติจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวัน ใช้สำหรับการป้องกันตนเอง นอกจากนี้ Mr. McCaul ยังได้ทำการอนุมัติ “กฎหมายเสริมสร้างความทรหดของไต้หวัน” เมื่อช่วงที่ผ่านมา ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ที่ได้ทำการอนุมัติจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้นานาประเทศ ซึ่งรวมถึงไต้หวันด้วย Mr. McCaul ขอให้คำมั่นต่อปธน.ไช่ฯ ว่า สหรัฐฯ จะจัดส่งอาวุธเหล่านี้ให้แก่ไต้หวันอย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้ ทุกอย่างอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดย Mr. McCaul กล่าวเสริมว่า การฝึกอบรมทางกลาโหมที่สหรัฐฯ ส่งมอบให้ไต้หวัน มิได้เพื่อเป็นการจุดชนวนสงคราม แต่เพื่อเป็นพลังสำรองไว้ใช้ในระหว่างการแสวงหาสันติภาพ