New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 12 เม.ย. 66
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา นายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศประเทศและคณะกรรมาธิการด้านกลาโหมแห่งสภาผู้แทนราษฎรแคนาดา” โดยรองปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันตั้งอยู่ในพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 (First Island Chain) ซึ่งพวกเราจะประสานความร่วมมืออย่างสามัคคี เพื่อปกป้องกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการประสานความร่วมมือกับประชาคมโลก เพื่อธำรงรักษาสันติภาพ เสถียรภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างเจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่องทั่วโลกต่อไป
รองปธน.ไล่ฯ ชี้ว่า ความมั่นคงในภูมิภาค การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ เป็น 3 ปัจจัยที่ไต้หวันให้ความสำคัญมากที่สุดในปัจจุบัน รองปธน.ไล่ฯ ขอใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อพลังสนับสนุนจากรัฐบาลและรัฐสภาแคนาดา โดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐสภาแคนาดาได้ประกาศ “รายงานเกี่ยวกับไต้หวัน” โดยได้แถลงต่อประชาคมโลกว่า หากไต้หวันถูกโค่นล้ม ประชาธิปไตยก็จะล่มสลายตามไปด้วย ถือเป็นคำคมที่เปรียบให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ซึ่งนับวันจีนยิ่งประพฤติตนเป็นปัญหาของประชาคมโลกมากขึ้นทุกที ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นปัญหาที่ไต้หวันต้องเผชิญหน้าโดยลำพัง แต่กลุ่มประเทศประชาธิปไตยก็ควรร่วมเผชิญหน้ากับปัญหานี้ด้วยเช่นกัน หากไต้หวันไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไป เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก หรือแม้กระทั่งส่งผลกระทบต่อนานาประเทศทั่วโลกด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ รองปธน.ไล่ฯ ยังชี้ว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ไต้หวันและแคนาดาได้เปิดการเจรจา “ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศ” (Foreign Investment Promotion and Protection Agreement, FIPA) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการพัฒนาทางการค้าแบบทวิภาคี ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างภาคประชาชน โดยรองปธน.ไล่ฯ ได้หยิบยกคำพูดของ Ms. Mary Ng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของแคนาดา ที่ว่า การสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างแคนาดา – ไต้หวัน ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก
รองปธน.ไล่ฯ แสดงทรรศนะว่า ภายใต้สถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน ความมั่นคงและเศรษฐกิจ เป็นประเด็นที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ จำต้องบูรณาการเข้าไว้ด้วยกัน จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายว่าด้วยการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคให้คงอยู่ต่อไปได้ รองปธน.ไล่ฯ จึงคาดหวังที่จะเห็นการเจรจาภายใต้กรอบความตกลง FIPA บังเกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว อีกทั้งในปีหน้านี้ (2024) แคนาดาจะเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมภายใต้ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (CPTPP) ไต้หวันจึงคาดหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและรัฐสภาแคนาดาในการกำหนดเชิญให้ไต้หวันเข้าร่วมใน CPTPP เพื่อสำแดงบทบาทที่สำคัญในแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยความมั่นคงในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก
แม้ว่าไต้หวันจะไม่ใช่ประเทศที่มีขนาดใหญ่ แต่พวกเราเป็นพลังแห่งความดีของโลกที่เปี่ยมด้วยทัศนคติเชิงบวกและความกระตือรือร้น พร้อมที่จะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลก จึงไม่สมควรถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบของสังคมโลก
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก็ได้ให้การต้อนรับ “คณะกรรมาธิการการต่างประเทศประเทศและคณะกรรมาธิการด้านกลาโหมแห่งสภาผู้แทนราษฎรแคนาดา” โดยสมาชิกคณะตัวแทนที่ร่วมเดินทางมาในครั้งนี้ ประกอบด้วย Mr. Mckay ประธานคณะกรรมาธิการด้านกลาโหม และเจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ คณะกรรมาธิการด้านกลาโหม และคณะกรรมาธิการพิเศษฝ่ายกิจการความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดา – จีน ซึ่งสมาชิกคณะมาจาก 4 พรรคการเมืองหลักของแคนาดา แสดงให้เห็นถึงความสนับสนุนของรัฐสภาแคนาดาต่อไต้หวันแบบไม่แบ่งแยกฝักฝ่าย
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า พวกเราประจักษ์ดีว่า รัฐบาลแคนาดาได้ให้ความสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพใน “แผนยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิก” ฉบับล่าสุด อีกทั้งยังมีเนื้อความที่ระบุว่า จะเร่งสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน – แคนาดาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐบาลแคนาดายังได้ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญๆ เช่น การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เป็นต้น จึงขอแสดงความขอบคุณด้วยใจจริง
นอกจากนี้ ไต้หวัน – แคนาดายังได้ประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทั้งในด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม โดยในแง่ของเศรษฐกิจ ทั้งสองประเทศต่างมีข้อได้เปรียบที่สามารถเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันได้อย่างลงตัว อีกทั้งแคนาดายังเป็นประเทศสมาชิกที่สำคัญของ CPTPP พวกเราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลแคนาดาจะให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมใน CPTPP เนื่องจากพวกเราเตรียมพร้อมแล้วที่จะร่วมสรรค์สร้างความเจริญรุ่งเรืองไปพร้อมกับประชาคมโลก ภายใต้การเคารพต่อกฎระเบียบทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่เปี่ยมด้วยมาตรฐานระดับสูง
จากนั้น เป็นการกล่าวปราศรัยของ Mr. Mckay โดยชี้ว่า ตนรู้สึกชื่นชมต่อการปกครองของปธน.ไช่ฯ นับตั้งแต่ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำไต้หวันเป็นต้นมา โดยเฉพาะการแสดงออกซึ่งพลังความกล้าหาญในระหว่างที่อยู่ในตำแหน่ง
Mr. Mckay เผยว่า จีนได้แสดงพฤติกรรมการแทรกแซงและส่งผลกระทบต่อการเมืองภายในประเทศของแคนาดาด้วยเช่นกัน ทำให้พวกเรายิ่งตระหนักเห็นถึงวิกฤตที่ใกล้เข้ามามากขึ้น และเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่เผชิญหน้ากับภัยคุกคามเหล่านี้ ยิ่งประสานความสามัคคีกันอย่างแนบแน่นมากยิ่งขึ้น โดยวัตถุประสงค์ของการเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ เพื่อต้องการเรียนรู้แนวทางการธำรงรักษาและเสริมสร้างประชาธิปไตยและความเจริญรุ่งเรืองของไต้หวัน และนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป
Mr. Mckay ชี้ว่า เหล่าคณะตัวแทนต่างตระหนักดีว่า ไต้หวันมีความประสงค์ที่จะเข้าร่วม CPTPP และร่วมลงนามความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศ (FIPA) กับแคนาดา โดยเฉพาะความคืบหน้าในประเด็นเศรษฐกิจที่ไม่สามารถดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยเหล่าคณะตัวแทนจะช่วยเหลือผลักดันให้ภารกิจมุ่งสู่ทิศทางที่ถูกต้อง เนื่องจากเชื่อมั่นว่า หากไม่มีความมั่นคง ก็ไม่สามารถมีหลักประกันด้านความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
ในช่วงท้าย Mr. Ken Hardie ประธานคณะกรรมาธิการพิเศษกิจการความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดา - จีน ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเหล่าคณะสมาชิก ส่งมอบรายงานที่ประกาศโดยคณะกรรมาธิการการฯ ภายใต้ชื่อ “ความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่างแคนาดา – ไต้หวัน ท่ามกลางสถานการณ์ผกผันที่เกิดจากปัจจัยความไม่แน่นอนหลายประการ”
โดยในช่วงค่ำของวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อให้การต้อนรับแก่ Mr. John Mckay ประธานคณะกรรมาธิการด้านกลาโหมแห่งสภาผู้แทนราษฎรแคนาดา และคณะสมาชิกสภาแบบข้ามพรรค รวม 10 คน
รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นว่า “คณะกรรมาธิการพิเศษกิจการความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดา - จีน” ได้ประกาศแถลงการณ์รายงานภายใต้ชื่อ “ความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่างแคนาดา – ไต้หวัน ท่ามกลางสถานการณ์ผกผันที่เกิดจากปัจจัยความไม่แน่นอนหลายประการ” โดยได้มีการระบุแนวทางอย่างเป็นรูปธรรมในประเด็นที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต ความมั่นคงและเศรษฐกิจการค้า ระหว่างไต้หวัน - แคนาดา โดยภายในแถลงการณ์ยังได้มีการระบุว่า “อนาคตของไต้หวันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของประชาชนชาวไต้หวันเท่านั้น” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังสนับสนุนอันหนักแน่นที่มีต่อไต้หวัน รมว.อู๋ฯ ยังกล่าวอีกว่า เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายจากจีน ไต้หวันมีความมุ่งมั่นในการปกป้องประเทศ พร้อมทั้งเสริมสร้างแสนยานุภาพทางกลาโหมที่ขาดความสมดุล ตลอดจนสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับแคนาดาและเหล่าพันธมิตรในต่างประเทศ เพื่อร่วมสกัดกั้นแรงกดดันจากประเทศเผด็จการต่อไป