New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สื่อแนวหน้าในสาธารณรัฐเช็ก โดยเรียกร้องให้ประชาคมโลกเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันเพื่อสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของประเทศลัทธิอำนาจนิยม

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 18 เม.ย. 66
 
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนแนวหน้าของสาธารณรัฐเช็ก รวม 8 ราย โดยได้มีการชี้แจงในประเด็นที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – เช็ก การข่มขู่ที่จีนกระทำต่อไต้หวัน สงครามรัสเซีย - ยูเครน สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันและอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้มีการทยอยตีพิมพ์และแพร่ภาพแล้ว ซึ่งได้รับความสนใจและเสียงตอบรับอย่างแพร่หลายจากเช็กและกลุ่มประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวขอบคุณ Ms. Markéta Pekarová Adamová ประธานสภาผู้แทนราษฎรสาธารณรัฐเช็ก ที่ได้นำคณะตัวแทนรวม 160 คน ที่ประกอบด้วย สมาชิกสภาแบบข้ามพรรคและตัวแทนภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ เดินทางเยือนไต้หวันในระหว่างวันที่ 25 – 29 มี.ค.ที่ผ่านมา อย่างมิหวั่นเกรงต่อการข่มขู่ของรัฐบาลจีน โดยรมว.อู๋ฯ กล่าวว่า จีนเข้าขัดขวางมิตรสหายนานาชาติเดินทางเยือนไต้หวันทุกวิถีทาง เพื่อต้องการตัดขาดความเชื่อมโยงระหว่างไต้หวันและนานาประเทศ ด้วยเหตุนี้ การได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเช็กที่มีต่อไต้หวัน จึงเปี่ยมด้วยคุณค่ามากยิ่งขึ้น
 
รมว.อู๋ฯ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ในปี 2022 Mr. Miloš Vystrčil ประธานวุฒิสภาสาธารณรัฐเช็ก ได้ยืนหยัดในการนำคณะตัวแทนเดินทางเยือนไต้หวัน แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ประกอบกับ Mr. Zdenek Hrib นายกเทศมนตรีกรุงปราก ได้ประกาศยกเลิกการผูกสัมพันธไมตรีเป็นเมืองพี่น้องกับกรุงปักกิ่ง และหันมาผูกสัมพันธไมตรีกับกรุงไทเปแทน อีกทั้งเช็กยังเป็นหนึ่งในประเทศแรกของโลกที่บริจาควัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ให้แก่ไต้หวัน นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคมของปีนี้ H.E. Petr Pavel ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเช็ก ยังได้ร่วมหารือพูดคุยกับประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ผ่านทางโทรศัพท์ สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลเช็กมิได้หวั่นกลัวต่อการข่มขู่ของจีน ถือเป็นมิตรแท้ของไต้หวันอย่างแท้จริง โดยรมว.อู๋ฯ ยังได้แสดงจุดยืนแน่วแน่ว่า รัฐบาลจีนไม่มีสิทธิ์ก้าวก่ายว่าไต้หวันจะคบหาสมาคมกับผู้ใด และไม่มีสิทธิ์แทรกแซงพลังเสียงสนับสนุนที่มิตรประเทศส่งมอบให้แก่ไต้หวันด้วย
 
รมว.อู๋ฯ เผยว่า การข่มขู่ด้วยกำลังทหารของจีนที่มีต่อไต้หวันเป็นเรื่องจริง และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น พวกเราคาดหวังมิให้เกิดสงคราม แต่ก็ต้องเตรียมการให้พร้อมเพื่อไว้รับมือด้วยเช่นกัน รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า การปกป้องไต้หวันเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของพวกเรา ประชาชนชาวไต้หวันล้วนมีความตั้งใจแน่วแน่ในการปกป้องอำนาจอธิปไตยของประเทศชาติ หลายปีมานี้ ไต้หวันได้เร่งผลักดันการปฏิรูปกิจการทหาร ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างกลไกการฝึกอบรมศักยภาพในการสู้รบให้แก่เหล่าพี่น้องทหาร พัฒนายุทธศาสตร์สงครามอสมมาตร(Asymmetrical warfare) และเสริมสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่า เรามีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เพียงพอ พร้อมทั้งแสวงหาพลังเสียงสนับสนุนจากกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ เพื่อต้องการที่จะสกัดกั้นการรุกรานไต้หวันด้วยกำลังทหารของรัฐบาลจีนอย่างเต็มประสิทธิภาพ
 
รมว.อู๋ฯ แถลงว่า สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสาธารณรัฐประชาชนจีน มิได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน การธำรงรักษาไว้ซึ่งสถานภาพในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน สอดคล้องกับผลประโยชน์สูงสุดร่วมกันของทุกฝ่าย โดยในระยะที่ผ่านมา จีนได้จัดส่งเรือรบเข้ารุกล้ำเส้นกึ่งกลางช่องแคบไต้หวัน โดยหยิบยกข้ออ้างจากการที่นางแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวันเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2022 เพื่อจงใจทำลายสถานภาพในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน ด้วยการกระทำที่เป็นการยั่วยุและท้าทาย ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค จึงเป็นที่จับตาให้ความสนใจในประชาคมโลก อย่างไรก็ตาม ความทะเยอทะยานของจีนมิได้จำกัดเพียงไต้หวันเท่านั้น แต่จีนยังหมายที่จะแผ่ขยายอิทธิพลไปสู่ทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก และทะลวงผ่านพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 (First Island Chain) ขยายไปสู่พื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย หรือแม้กระทั่งในทวีปแอฟริกา รมว.อู๋ฯ จึงได้ใช้โอกาสนี้ เรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยร่วมจับตาต่อภัยคุกคามจากรัฐบาลจีน พร้อมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือในการสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ควบคู่ไปพร้อมกัน
 
รมว.อู๋ฯ ยังกล่าวว่า การธำรงรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยรมว.อู๋ฯ ระบุว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบไต้หวันครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของโลก อีกทั้งแผ่นชิปในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตโดยไต้หวัน ยังครองส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกกว่าร้อยละ 60 ของโลก โดยในจำนวนนี้ แผ่นชิปวงจรรวมที่ผลิตโดยเทคโนโลยีขั้นสูง ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 92 ของโลก หากว่าเกิดสงครามขึ้นในช่องแคบไต้หวัน เกรงว่าระบบห่วงโซ่อุปทานอาจต้องหยุดชะงัก เศรษฐกิจทั่วโลกก็พลอยจะได้รับความเสียหายไปด้วย ด้วยเหตุนี้ รมว.อู๋ฯ จึงคาดหวังที่จะเห็นกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป เฝ้าจับตาต่อสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันอย่างใกล้ชิดต่อไป พร้อมทั้งพิจารณาแสวงหามาตรการรับมืออย่างเป็นรูปธรรม อาทิ มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เพื่อสกัดกั้นการรุกรานจากจีนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
 
ต่อกรณีปัญหาการแทรกแซงทางอินเทอร์เน็ตจากจีน รมว.อู๋ฯ ชี้แจงว่า ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา จีนมีความประสงค์ที่จะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นภายในประเทศของไต้หวัน อันจะพัฒนาไปสู่การบ่อนทำลายประชาธิปไตยในไต้หวัน ด้วยวิธีการเผยแพร่ข่าวปลอม สงครามจิตวิทยาและสงครามไซเบอร์ แต่ยังดีที่ไต้หวันมีภาคประชาสังคมที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีองค์การนอกภาครัฐอย่าง “หน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงไต้หวัน” (Taiwan fact-check center) และ “ห้องปฏิบัติการด้านประชาธิปไตยไต้หวัน” (Doublethink lab) เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างทันท่วงที เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากข่าวปลอม รมว.อู๋ฯ ยังกล่าวอีกว่า ไต้หวันอาจเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่รุนแรงที่สุดในโลก โดยประสบการณ์ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ของไต้หวันที่สั่งสมมาจากการรับมือกับสงครามไซเบอร์จากจีน สามารถกำหนดไว้เป็นทิศทางการเสริมสร้างความร่วมมือกับเช็กและนานาประเทศทั่วโลกต่อไป
 
โดยรายชื่อ 8 สื่อแนวหน้าของเช็กที่ร่วมสัมภาษณ์ รมว.อู๋ฯ มีดังนี้ : สถานีโทรทัศน์สาธารณะ Česká Televize , สถานีโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ TV NOVA , รายการข่าว CNN Prima News , สถานีวิทยุกระจายเสียงČRO , เว็บไซต์ Lupa.cz , วารสารรายสัปดาห์ Respekt , หนังสือพิมพ์รายวัน Denik และวารสารรายสัปดาห์ Reflex  ซึ่งล้วนเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในกลุ่มประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก รวมถึงเช็ก ซึ่งบรรดาผู้สื่อข่าวเหล่านี้ได้เดินทางมาทำข่าวในไต้หวัน พร้อมกับคณะตัวแทนของ Ms. Adamová ประธานสภาผู้แทนราษฎรสาธารณรัฐเช็ก