New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 23 เม.ย. 66
เมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Jeff Semple ผู้สื่อข่าวอาวุโสของ “สำนักข่าว Global News” แห่งแคนาดา โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่ผ่านรายการโทรทัศน์และเว็บไซต์สำนักข่าว เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “รมว.กต.ไต้หวันเผย ไต้หวันกำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือกับภัยคุกคามจากจีนด้วยกำลังทหาร” (Taiwan preparing for when --not if-- China launches military attack: minister) ซึ่งได้รับความสนใจในวงกว้างจากทั่วโลก
รมว.อู๋ฯ กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ว่า จีนได้ข่มขู่ไต้หวันด้วยกำลังทหารมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา จีนได้ใช้ข้ออ้างจากการนัดพบปะหารือของประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ Mr. Kevin McCarthy ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในระหว่างการแวะเยือนพื้นที่ในสหรัฐฯ มาจุดชนวนในการฝึกซ้อมทางทหารในพื้นที่รอบน่านน้ำไต้หวันอีกครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขัดขวางการสนับสนุนของประชาคมโลกที่มีต่อไต้หวัน ไต้หวันจึงขอประณามอย่างรุนแรง ซึ่งรมว.อู๋ฯ ยังได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐสภาและประชาชนชาวแคนาดา สำหรับพลังเสียงสนับสนุนอย่างหนักแน่นที่มีต่อประชาธิปไตยของไต้หวันเสมอมา
เมื่อช่วงที่ผ่านมา มีสำนักข่าวบางแห่งระบุว่า การนัดพบระหว่างปธน.ไช่ฯ และ Mr. McCarthy เป็น “สิ่งที่ไร้ประโยชน์และเป็นการยั่วยุท้าทาย” ซึ่งรมว.อู๋ฯ ย้ำว่า ไต้หวันเป็นสังคมประชาธิปไตย จีนไม่มีสิทธิ์ก้าวก่ายการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและประชาคมโลก และไม่มีสิทธิ์กล่าวหาว่าการสร้างมิตรภาพระหว่างไต้หวันและนานาประเทศ เป็นการยั่วยุท้าทาย หรือกำหนดให้ไต้หวันเป็นพื้นที่ต้องห้ามตามอำเภอใจ ในทางกลับกัน จีนไม่แยแสต่อหลักการการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ตาม “กฎบัตรสหประชาชาติ” และใช้กำลังอาวุธเข้าข่มขู่ไต้หวันอยู่บ่อยครั้ง
รมว.อู๋ฯ กล่าวอีกว่า จุดชนวนของการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดจากความอยากครอบครองดินแดนประเทศอื่นของประเทศที่มีความทะเยอทะยานสูง โดยตลอดที่ผ่านมา จีนได้กล่าวอ้างตามอำเภอใจว่า ไต้หวัน ช่องแคบไต้หวัน พื้นที่ทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ต่างเป็นส่วนหนึ่งของจีน จึงจะเห็นได้ว่า การแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ได้ทะลวงผ่านพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 (First Island Chain) ขยายไปสู่พื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียแล้ว ก่อให้เกิดเป็นภัยคุกคามอย่างรุนแรงต่อประชาคมโลก ถือเป็นการยั่วยุท้าทายอย่างแท้จริง กลุ่มประเทศประชาธิปไตยควรที่จะจดจำบทเรียนทางประวัติศาสตร์ พร้อมร่วมเรียกร้องให้จีนตระหนักว่า ไม่ควรใช้กำลังอาวุธต่อประเทศใดๆ ในโลก โดยพวกเราจะมุ่งมั่นในการสร้างความสามัคคีเพื่อสกัดกั้นความทะเยอทะยานของจีนอย่างเต็มที่ต่อไป
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า ประเทศภายนอกต่างคาดเดาระยะเวลาที่จีนจะรุกรานไต้หวัน อย่างไรก็ตาม พวกเราจำเป็นต้องเตรียมการให้พร้อมอยู่เสมอ โดยไต้หวันได้รับข้อคิดและประสบการณ์จากสงครามรัสเซีย – ยูเครน ทำให้นอกจากเราจะยึดมั่นในความมุ่งมั่นในการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง สร้างกลไกเชิงยุทธศาสตร์ที่ขาดความสมดุล และทำการปฏิรูปทางกลาโหมแล้ว ยังเร่งแสวงหาพลังสนับสนุนจากประชาคมโลกอย่างกระตือรือร้น เพื่อรับมือกับการรุกรานที่มีความเป็นไปได้จากจีน โดยรมว.อู๋ฯ เปรียบเปรยกรณีที่เดวิดที่ต่อสู้กับยักษ์โกลิอัท ตามเนื้อเรื่องในพระคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งจะเห็นได้ว่าในท้ายสุด ประชาธิปไตยสามารถคว้าชัยชนะมาครองได้อย่างสวยงาม ซึ่งไต้หวันจะได้รับชัยชนะนั้นในที่สุด
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - แคนาดา รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า เราทั้งสองฝ่ายต่างยึดมั่นในค่านิยมด้านเสรีภาพ ประชาธิปไตย พร้อมธำรงรักษาสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม รวมไปถึงความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคี โดยเมื่อปีที่แล้วเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลแคนาดาได้ประกาศ “แผนยุทศาสตร์อินโด – แปซิฟิก” และได้แสดงความห่วงใยต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ด้วยเหตุนี้ รมว.อู๋ฯ จึงเห็นว่า ทั้งสองประเทศมีศักยภาพที่จะประสานความร่วมมือกันหลายด้าน นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังชี้ว่า จีนใช้การเผยแพร่ข่าวปลอมและการแทรกแซงการเลือกตั้งในต่างประเทศด้วยการอาศัยพลังของกลุ่มผู้อพยพชาวจีนที่พำนักอยู่ในประเทศนั้นๆ ซึ่งไต้หวันถูกโจมตีจากจีนด้วยวิธีการการเผยแพร่ข่าวปลอมและการโจมตีทางไซเบอร์เป็นจำนวนบ่อยครั้ง จนเปี่ยมด้วยประสบการณ์การรับมืออย่างครอบคลุม ในขณะที่กลุ่มองค์การพลเรือนก็ได้เร่งทำการชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งไต้หวันยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ เพื่อร่วมต่อต้านการแทรกแซงจากจีนไปพร้อมกับแคนาดาด้วยเช่นกัน