New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของนิวซีแลนด์ (TVNZ) เรียกร้องให้ประชาคมโลกตระหนักเห็นถึงการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการจากจีนสู่พื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก พร้อมเรียกร้องให้ไต้หวัน – นิวซีแลนด์ ร่วมเสริมสร้างมาตรการรับมือที่รัดกุมมากขึ้น

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 7 พ.ค. 66
 
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แก่ Mr. Jack Tame ผู้สื่อข่าวรายการวิเคราะห์ข่าวสารการเมือง “Q+A” ของ “สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของนิวซีแลนด์” (TVNZ) โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกเผยแพร่ในช่วงเวลา Prime Time ของวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “ไต้หวันเตือนให้นิวซีแลนด์จับตาความทะเยอทะยานของจีนในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก” (Taiwan urges NZ to invest in Pacific, warns of China's 'ambition') ซึ่งได้รับความสนใจจากทุกแวดวงในนิวซีแลนด์เป็นอย่างมาก
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า ไต้หวันมุ่งสกัดกั้นการเกิดสงครามในพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน จึงได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเข้ารุกรานจากจีนด้วยกำลังทหาร เพื่อสกัดกั้นความเพ้อฝันของจีนที่จะเข้าครอบครองไต้หวันอย่างง่ายดาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสกัดกั้นการรุกรานจากประเทศภายนอก โดยรมว.อู๋ฯ ชี้ว่า สงครามรัสเซีย – ยูเครนได้ให้ข้อคิดแก่ไต้หวันหลายประการ ประการแรก ภาคประชาชนชาวไต้หวันยิ่งเกิดความฮึกเหิมในการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองอย่างหนักแน่น ประการที่สอง รัฐบาลได้เรียนรู้ประสบการณ์จากยูเครน ในการต่อต้านกำลังอาวุธที่ทรงพลังกว่าจากรัสเซีย และประการสุดท้าย ไต้หวันจำเป็นต้องแสวงหาพลังเสียงสนับสนุนจากประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง พลังสนับสนุนจากประชาคมโลก เป็นสาเหตุหลักที่ยูเครนสามารถต่อกรกับการรุกรานจากประเทศภายนอกได้อย่างต่อเนื่อง และยังส่งผลให้ประชาชนชาวไต้หวันตระหนักเห็นว่า พวกเราไม่โดดเดี่ยว รวมทั้งช่วยสร้างความฮึกเหิมให้แก่ประชาชนชาวไต้หวันในการร่วมปกป้องประเทศชาติอย่างหนักแน่นเพิ่มมากขึ้น โดยไต้หวันคาดหวังที่จะประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างหนักแน่น เพื่อร่วมธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ให้คงอยู่สืบไป
 
รมว.อู๋ฯ แถลงว่า ขณะนี้ จีนกำลังแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการไปสู่ทั่วโลก ซึ่งความทะเยอทะยานของจีน มิได้จำกัดเพียงในพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้เท่านั้น แต่ยังทะลวงผ่านพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 ไปสู่พื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก และขยายไปสู่มหาสมุทรอินเดียหรือแม้กระทั่งพื้นที่แถบแอฟริกา วัตถุประสงค์ของการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ เพื่อเป็นการทำลายค่านิยมด้านประชาธิปไตย กลุ่มประเทศประชาธิปไตยในภูมิภาคและระดับโลก ควรร่วมตระหนักปัญหาความรุนแรงนี้ ด้วยการผนึกกำลังสามัคคี เพื่อร่วมสกัดกั้นความทะเยอทะยานของจีน
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ว่า จีนเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของทั้งไต้หวันและนิวซีแลนด์ แต่ไต้หวันได้มุ่งมั่นปกป้องมิให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้า ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภาพรวมของประเทศชาติ หลายปีมานี้ จีนใช้ประโยชน์จากอำนาจทางเศรษฐกิจและการค้าที่แข็งแกร่งของตน มาเป็นอำนาจต่อรองในการสร้างอิทธิพลต่อนโยบายของประเทศต่างๆ อาทิ ออสเตรเลียและลิทัวเนีย เป็นต้น โดยกลุ่มประเทศเป้าหมายเหล่านี้ได้ริเริ่มดำเนินมาตรการรับมือแล้ว ประกอบกับในระยะนี้ สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ยังได้ขยายขอบเขตการให้ความช่วยเหลือแก่พื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อลดการพึ่งพาต่อจีนของกลุ่มประเทศขนาดเล็ก ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศประชาธิปไตย รมว.อู๋ฯ เรียกร้องให้รัฐบาลนิวซีแลนด์ตระหนักถึงการอาศัยอำนาจทางเศรษฐกิจและการค้าของจีนมาเป็นอาวุธ พร้อมประสานความร่วมมือกับออสเตรเลีย สหรัฐฯ และไต้หวัน ในการทุ่มเททรัพยากรเข้าสู่พื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิกให้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้กลุ่มประเทศในภูมิภาค กลายเป็นเหยื่อที่ต้องรองรับแรงกดดันทางเศรษฐกิจและการค้าจากจีน
 
ต่อกรณีที่จีนทำการซ้อมรบบริเวณพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน ด้วยการอ้างถึงสาเหตุการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและนานาประเทศทั่วโลก รมว.อู๋ฯ แสดงจุดยืนหนักแน่นว่า จีนไม่มีสิทธิ์ก้าวก่ายว่าไต้หวันจะคบหาสมาคมกับผู้ใด หรือไม่มีสิทธิ์ชี้แนะแนวทางการไปมาหาสู่ระหว่างมิตรสหายนานาประเทศกับไต้หวัน ในความเป็นจริงแล้ว การซ้อมรบของจีนถือเป็นการ “พลิกผลให้เป็นเหตุ” การที่มิตรสหายนานาชาติให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างท่วมท้น เป็นผลอันเนื่องมาจากการบีบบังคับไต้หวันของจีน จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า จีนคือต้นตอของปัญหาที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้ มิใช่ไต้หวันหรือมิตรสหายนานาประเทศ
 
นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังชี้ว่า ไต้หวันถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบขององค์การระหว่างประเทศ อย่างระบบสหประชาชาติ (UN) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งเป็นผลอันสืบเนื่องมาจากการขัดขวางโดยรัฐบาลจีน จึงถือว่าไม่ยุติธรรมต่อประชาชนชาวไต้หวันเลย อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องเผชิญกับแรงกดดันจากจีน ไต้หวันจะผนึกกำลังสามัคคีร่วมกับประเทศพันธมิตรและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างนิวซีแลนด์ เพื่อสร้างคุณประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนคาดหวังที่จะเห็นรัฐบาลนิวซีแลนด์ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องสืบไป
 
ท้ายนี้ รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า ไต้หวัน – นิวซีแลนด์ต่างเป็นประเทศเกาะ ที่ล้วนให้ความเคารพต่อสิทธิของกลุ่มชนพื้นเมือง และยึดมั่นในค่านิยมพื้นฐานด้านเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม เป็นต้น หลายปีมานี้ ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่งไต้หวัน – นิวซีแลนด์ ดำเนินไปในทิศทางเชิงลึก อันจะเห็นได้จากเมื่อเดือนมีนาคมของปีนี้ รัฐสภานิวซีแลนด์ได้จัดตั้ง “กลุ่มพันธมิตรไต้หวันแบบข้ามพรรค” (All-Party Parliamentary Group on Taiwan) ซึ่งเปี่ยมด้วยนัยยะที่พิเศษยิ่ง นอกจากนี้ ไต้หวัน – นิวซีแลนด์ ยังเป็นประเทศสมาชิกรุ่นบุกเบิกภายใต้ “ข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าของชนพื้นเมือง” (IPETCA) และนับตั้งแต่ปี 2013 ที่ทั้งสองประเทศร่วมลงนาม “ความตกลงทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - นิวซีแลนด์” เป็นต้นมา มูลค่าการค้าแบบทวิภาคีก็ขยายตัวเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดที่ผ่านมา ไต้หวันให้ความเคารพต่อกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด ซึ่งไต้หวันมีศักยภาพในการให้ความเคารพต่อกฎระเบียบทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศตามมาตรฐานสูง จึงคาดหวังว่า นิวซีแลนด์จะร่วมผลักดันให้ไต้หวันเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (CPTPP) ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคีในด้านต่างๆ ระหว่างทั้งสองฝ่ายในเชิงลึกต่อไป