New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 15 พ.ค. 66
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของมูลนิธิพันธมิตรประชาธิปไตย (Alliance of Democracies Foundation, AoD) เข้าร่วมแสดงปาฐกถาผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้าใน “การประชุมสุดยอดประชาธิปไตยโคเปนเฮเกน” (Copenhagen Democracy Summit) ครั้งที่ 6 ที่มีกำหนดการจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 15 – 16 พ.ค. นี้ ภายใต้รูปแบบไฮบริด ที่จัดขึ้นทั้งในสถานที่จริงและผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ประชาธิปไตยของไต้หวันในปัจจุบันที่เปี่ยมด้วยความเจริญรุ่งเรือง เป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการบรรลุหลักการที่แฝงไว้ด้วยนัยยะของธรรมาภิบาลที่ดีอย่างหนักแน่นและเป็นรูปธรรม โดยประสบการณ์ของไต้หวันนอกจากจะเป็นการเผยให้เห็นถึงรูปแบบวิถีชีวิตในการธำรงรักษาค่านิยมด้านประชาธิปไตยของพวกเราแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความกล้าหาญของไต้หวัน ในการแบกรับความรับผิดชอบที่จะปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาคและระดับโลก ให้คงอยู่ต่อไป
ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า คำมั่นสัญญาด้านประชาธิปไตย เป็นจุดยืนอันหนักแน่นร่วมกันของประชาชนชาวไต้หวัน โดยพวกเราเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นหนทางเดียวที่มีความยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์การรับมือกับภัยคุกคามจากจีนของไต้หวันด้วยความกล้าหาญและทรหด ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวันกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ถือเป็นมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด “เพียงแค่ประสานความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว ก็จะสามารถทำให้พวกเราทวีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”
การแสดงปาฐกถาของปธน.ไช่ฯ ในครั้งนี้ มีสาระสำคัญดังนี้ :
นับตั้งแต่การประชุมที่ปิดฉากลงเมื่อปีที่แล้ว เราต่างตระหนักถึงภัยคุกคามที่เกิดจากประเทศลัทธิอำนาจนิยม เพื่อแผ่ขยายอิทธิพล กลุ่มประเทศเหล่านี้ได้อาศัยพลังอำนาจมากัดกร่อนความเชื่อมั่นที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพของพวกเรา พร้อมทั้งประยุกต์ใช้ช่องทางการแพร่กระจายข่าวปลอมและสงครามจิตวิทยา มาสร้างความแตกแยกร้าวฉานให้แก่พวกเราทั้งในและต่างประเทศ
ประกอบกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังได้สร้างแรงกดดันต่อกลุ่มประเทศ หน่วยงานและบุคคลที่ไม่เห็นด้วยหรือมีข้อกังขาต่อเศรษฐกิจและการเมืองของจีน
นอกจากนี้ Mr. Anders Fogh Rasmussen ประธานมูลนิธิ AoD ยังถูกจีนคว่ำบาตร โดยถูกขึ้นบัญชีดำ อันเนื่องมาจากการปกป้องสิทธิมนุษยชนและให้การสนับสนุนไต้หวัน
หลังเสร็จสิ้นการเดินทางเยือนไต้หวันเมื่อช่วงที่ผ่านมาของ Ms.Nancy Pelosi อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ มูลนิธิ AoD และกองทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไต้หวัน (International Cooperation and Development Fund, Taiwan ICDF) ก็ถูกจัดอยู่ในบัญชีดำของจีนด้วย นอกจากนี้ ในช่วงปีนี้ หลังจากที่ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางแวะเยือนสหรัฐฯ ก็พบว่ามีหน่วยงานและบุคคลที่ได้รับการเพ่งเล็งจากจีนเป็นจำนวนไม่น้อย
เมื่อเผชิญกับความท้าทายเช่นนี้ พวกเรายิ่งต้องประสานความสามัคคี เพื่อหยุดยั้งและสกัดกั้นพฤติกรรมที่ท้าทายเหล่านี้
ประวัติศาสตร์และประสบการณ์ที่มีร่วมกัน ต่างสะท้อนให้พวกเราเห็นแล้วว่าความลุ่มหลงและการปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามชะตากรรมด้วยสายตาเย็นชา มีแต่จะทำให้ผู้คุมอำนาจเผด็จการ ยิ่งแสดงพฤติกรรมรุนแรงทวีคูณขึ้นตามอำเภอใจ
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ไต้หวันตั้งอยู่ในแนวหน้าที่ต้องคอยรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากประเทศลัทธิอำนาจนิยม แต่ถึงกระนั้น การยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตยของพวกเรา กลับทวีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เคยมีมา
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังเหตุแผ่นดินไหวในตุรกีที่ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ประชาชนชาวไต้หวันต่างร่วมระดมสิ่งของจำเป็นเพื่อส่งมอบความช่วยเหลือ อีกทั้งรัฐบาลไต้หวันก็ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยระดับพระกาฬ เดินทางมุ่งหน้าสู่พื้นที่ประสบภัยเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ ธารน้ำใจของไต้หวันยังไหลรินไปสู่พื้นที่สงครามในยูเครนด้วยเช่นกัน โดยประชาชนชาวไต้หวันที่พำนักอยู่ในยุโรป ต่างมุ่งหน้าสู่พื้นที่ที่รัฐบาลได้จัดเตรียมไว้ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนที่ไร้ซึ่งที่พักอาศัย โดยทางรัฐบาลไต้หวันก็ร่วมให้ความช่วยเหลือด้วยการเร่งลำเลียงสิ่งของบริจาคที่จำเป็น ควบคู่ไปกับการบริจาคเงินเพื่อจัดซื้อเครื่องปั่นไฟ
ไต้หวันนอกจากจะมีความสำคัญในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ยังเป็นสมาชิกของประชาคมโลกที่ไม่สามารถขาดได้อีกด้วย อันจะเห็นได้จากการส่งมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไปจนสู่การอนุรักษ์โลกด้วยพลังงานสีเขียว หรือตั้งแต่การแลกเปลี่ยนทางการศึกษา การฝึกอบรมทางวิชาชีพไปจนถึงการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน
จากการที่ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของไต้หวัน พร้อมเล็งเห็นถึงผลกระทบอันรุนแรงหากประชาธิปไตยของไต้หวันต้องล่มสลายลง จึงส่งผลให้พลังเสียงสนับสนุนประชาธิปไตยของไต้หวันในประชาคมโลก นับวันยิ่งทวีความเป็นปึกแผ่นมากยิ่งขึ้น
หลายปีมานี้ ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาลและสมาชิกสภาของแต่ละประเทศ ต่างทยอยเดินทางมาเยือนไต้หวันเพื่อให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ เหล่าผู้นำประเทศในทวีปยุโรปต่างก็ได้ประกาศแถลงการณ์เพื่อต่อต้านการรุกรานด้วยกำลังทหาร พร้อมให้การสนับสนุนสันติภาพในช่องแคบไต้หวันอย่างหนักแน่น Ms. Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เคยแสดงจุดยืนแน่วแน่ว่า เสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันมีบทบาทสำคัญต่อประชาคมโลกเป็นอย่างยิ่ง
ในช่วงท้าย ปธน.ไช่ฯ ได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อประเทศสมาชิกของ EU ที่ร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ และร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในเวทีนานาชาติ ตลอดจนเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในการประชุม WHA ที่เตรียมจะเปิดฉากขึ้นในเร็ววันนี้ต่อไป