New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 16 พ.ค. 66
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางเยือนเมืองเหมียวลี่ เพื่อเข้าร่วม “พิธีเปิดดำเนินการฟาร์มกังหันลม Formosa II” โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า การจัดตั้งฟาร์มกังหันลม Formosa II มีนัยยะสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ “เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันระดับนานาชาติ” “เป็นการแสดงให้เห็นว่าพลังงานสีเขียว ได้รับการพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพในไต้หวัน” และ “ส่งเสริมให้ระบบจ่ายไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น” โดยมีเป้าหมายระยะยาวคือการมุ่งสู่ “การเปลี่ยนผ่านสู่การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2050” ด้วยการบูรณาการทรัพยากรในแวดวงต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งนี้ เพื่อพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสในภายภาคหน้าต่อไป
ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า ฟาร์มกังหันลม Formosa II มีแท่นกังหันลมติดตั้งไว้รวม 47 จุด ซึ่งสามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าได้ 376 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1,500 ล้านยูนิตต่อปี หรือเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าตลอดทั้งปีของ 380,000 ครัวเรือน
ปธน.ไช่ฯ ยังเผยอีกว่า ในปีนี้จะมีฟาร์มกังหันลมที่ทำการติดตั้งแล้วเสร็จอีก 4 แห่ง โดยฟาร์มกังหันลม Formosa II มีขอบเขตที่กว้างขวางมากที่สุด โดยการเปิดตัวในครั้งนี้ ถือเป็นหลักชัยสำคัญแห่งการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของไต้หวัน ให้รุดหน้าไปอีกระดับหนึ่ง
ปธน.ไช่ฯ ชี้แจง 3 นัยยะสำคัญของการจัดตั้งฟาร์มกังหันลม Formosa II ดังนี้ :
ประการแรก “เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันระดับนานาชาติ” ก่อนหน้านี้ มักมีหลายคนตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงต้องพัฒนาพลังงานสีเขียว? พลังงานสีเขียวได้พัฒนามาเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมระดับประเทศ ในฐานะที่ไต้หวันเป็นประเทศส่งออก ความต้องการด้านพลังงานสีเขียวของผู้ประกอบการไต้หวัน นับวันยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ กลุ่มผู้ประกอบการไต้หวันที่เข้าร่วมในองค์กร RE100 หรือกลุ่มบริษัทที่ตั้งเป้าในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวระดับนานาชาติ มีจำนวนรวม 25 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้น ประกอบด้วย บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ซึ่งมีผลประกอบการรวมเป็นมูลค่าเกิน 5 ล้านล้านเหรียญไต้หวัน ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาพลังงานสีเขียวให้เกิดความเพียงพอ มีความสำคัญต่อการรักษาบทบาทสำคัญของอุตสาหกรรมไต้หวันให้คงอยู่ต่อไป
นัยยะประการที่ 2 “เป็นการแสดงให้เห็นว่าพลังงานสีเขียว ได้รับการพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพในไต้หวัน” การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเป็นเป้าหมายที่มีมาแต่เดิมของไต้หวัน เนื่องจากพวกเรามีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะพัฒนาไปข้างหน้าทีละก้าวอย่างมีเสถียรภาพ เริ่มต้นจากขั้นพื้นฐาน ฝ่าฝันอุปสรรคขวากหนามในระหว่างทาง ก้าวข้ามความท้าทายที่เกิดจากสถานการณ์โควิด – 19 โดยขณะนี้ นอกจากการพัฒนาพลังงานสีเขียว ดำเนินไปอย่างมีเสถียรภาพแล้ว เหล่าผู้ประกอบการไต้หวันก็เปี่ยมด้วยศักยภาพในการพิชิตห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานไฟฟ้าระดับนานาชาติ ตราบจนปัจจุบัน มีแท่นกังหันลมที่ติดตั้งกลางทะเลจำนวนรวม 208 จุด ในปี 2016 กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ อยู่ที่ 2,500 ล้านยูนิต อย่างไรก็ตามในปี 2022 พวกเราสามารถพัฒนากำลังการผลิต ให้รุดหน้ามาอยู่ที่ 14,000 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมถึง 5 เท่า จึงจะเห็นได้ว่าการจัดตั้งอุปกรณ์กำเนิดพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ จะทำให้มีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับประการสุดท้าย “ส่งเสริมให้ระบบจ่ายไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น” หลังจากก้าวเข้าสู่ยุคพลังงานหมุนเวียน บริษัทไฟฟ้าไต้หวัน (Taipower) ก็ได้เร่งปรับรูปแบบเครือข่ายระบบการจ่ายไฟ ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอดีตคือ ช่วงเวลาความต้องการกำลังไฟฟ้าสูง 6 ชั่วโมงในระหว่างวัน แต่ในปัจจุบัน ด้วยการนำเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาช่วย จึงสามารถทำให้อุปกรณ์เครื่องมืออย่างเครื่องจักรกลที่แปรสภาพก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ มีการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลาที่มีความต้องการกำลังไฟฟ้าสูง นอกจากนี้ เนื่องจากฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นพิเศษ ในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ ทางบริษัท Taipower จึงได้มีการวางแผนช่วงเวลาของการซ่อมบำรุงประจำปีให้สอดคล้องกับภารกิจการซ่อมบำรุงและการจ่ายไฟ เพื่อให้ภารกิจข้างต้นสามารถดำเนินการควบคู่กันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความยืดหยุ่นเหล่านี้ ล้วนเป็นรูปแบบใหม่ของกลไกการจ่ายไฟที่ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน