New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 18 พ.ค. 66
การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 76 เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 21 พ.ค. แต่ตราบจนปัจจุบัน ไต้หวันก็ยังไม่ได้รับจดหมายเชิญให้เข้าร่วมการประชุม โดยเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 18 พ.ค. นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายเซวียรุ่ยหยวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ สาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) ได้ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวขึ้น ณ ที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเรียกร้องให้สำนักเลขาธิการองค์การอนามัยโลก (WHO) เชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA รวมถึงแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของไต้หวันในการแสวงหาสิทธิ์ในการเข้าร่วมการประชุม WHA และเจตนารมณ์ที่จะอุทิศคุณประโยชน์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้แก่ประชาคมโลก
รมว.อู๋ฯ แถลงว่า แม้ว่าในปี 2023 ไต้หวันจะยังคงมิได้รับจดหมายเชิญให้เข้าร่วมการประชุม WHA แต่พวกเรายังคงมุ่งมั่นแสวงหาสิทธิ์ในการเข้าร่วมอย่างไม่เคยย่อท้อ อย่างไรก็ตาม กต.ไต้หวันรู้สึกเสียใจและขอแสดงความไม่พอใจต่อการที่สำนักเลขาธิการ WHO มิสามารถยึดมั่นในหลักการความเป็นกลางและความเป็นมืออาชีพ ด้วยการเชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA ในฐานะผู้สังเกตการณ์ แต่กลับมองข้ามความจำเป็นและความเร่งด่วนในการเข้าร่วม WHO และ WHA ของไต้หวัน ตลอดจนจุดยืนในการสนับสนุนไต้หวันจากประชาคมโลกอย่างกว้างขวาง โดยการมุ่งแสวงหาสิทธิ์ในการเข้าร่วม WHO เป็นฉันทามติร่วมกันของพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านของไต้หวัน อีกทั้งยังเป็นความคาดหวังร่วมกันของภาคประชาชนชาวไต้หวันอีกด้วย ภายใต้ความพยายามของรัฐบาลที่มุ่งชี้แจงข้อเรียกร้องในการเข้าร่วม WHO ของไต้หวัน เชื่อว่าประชาชนคงจะสัมผัสได้ถึงพลังสนับสนุนอันแข็งแกร่งที่ได้รับจากประชาคมโลก
ก่อนหน้านี้ 12 ประเทศพันธมิตรไต้หวันที่เป็นประเทศสมาชิกของ WHO ได้ร่วมยื่นหนังสือต่อเลขาธิการใหญ่ WHO โดยเรียกร้องให้มีการนำญัตติ “การเชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ในฐานะผู้สังเกตการณ์” จัดเข้าเป็นวาระการประชุม WHA ประจำปีนี้ นอกจากนี้กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันอย่างเปิดเผยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงจะเห็นได้ว่า พลังการสนับสนุนของหน่วยงานฝ่ายบริหารจากนานาประเทศ ที่ส่งมอบให้ไต้หวัน นับวันยิ่งทวีความแข็งแกร่งเพิ่มมากยิ่งขึ้น อาทิ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกทั้ง 7 ประเทศ (G7) และสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการให้สนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมอย่างมีความหมายในการประชุม WHA และการประชุมที่เกี่ยวข้องของ WHO ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ต่างก็ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเปิดเผย นอกจากนี้ หน่วยงานฝ่ายนิติบัญญัติของนานาประเทศต่างก็ให้การสนับสนุนไต้หวันในรูปแบบการลงมติผ่านกฎหมายและญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน กต.ไต้หวันจึงขอใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อกลุ่มประเทศพันธมิตรและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ที่ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในการประชุม WHA อย่างหนักแน่นเสมอมา โดยพลังสนับสนุนอันแข็งแกร่งจากประชาคมโลกจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ WHO มองเห็นความสำคัญในการเข้ามีส่วนร่วมของไต้หวันในภายภาคหน้าต่อไป
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ตลอดระยะที่ผ่านมา ไต้หวันยึดมั่นในหลักการ “สุขภาพดีถ้วนหน้า ไต้หวันช่วยได้” (Health for all, Taiwan can help) พร้อมทั้งมุ่งมั่นสร้างคุณประโยชน์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้แก่ประชาคมโลกอย่างกระตือรือร้น โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ไต้หวันได้ส่งมอบความช่วยเหลือทางการแพทย์ให้แก่ 80 กว่าประเทศทั่วโลก อีกทั้งในช่วงระหว่างสงครามรัสเซีย - ยูเครน และเหตุแผ่นดินไหวในตุรกี รัฐบาลและภาคประชาชนชาวไต้หวัน ก็ได้ยื่นมือให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีหลังรับทราบข่าว ด้วยการส่งมอบเวชภัณฑ์ทางการแพทย์และร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือ ซึ่งล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าพื้นที่ใดในโลกที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็จะสามารถเห็นธารน้ำใจของไต้หวันหลั่งไหลไปสู่พื้นที่นั้นๆ ด้วยความเต็มใจ
รมว.อู๋ฯ แสดงจุดยืนแน่วแน่ว่า สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยที่ยึดมั่นในหลักการเสรีภาพและประชาธิปไตย มิได้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีเพียงรัฐบาลที่ได้รับเลือกจากประชาชนชาวไต้หวันจึงจะมีสิทธิ์เข้าร่วมในกิจกรรมของ WHO จึงขอเรียกร้องต่อสำนักเลขาธิการ WHO ให้ตระหนักถึงพลังเสียงสนับสนุนอย่างเปิดเผยของนานาประเทศ ที่ต้องการจะเห็นไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมใน WHO ด้วยการติดต่อเชิญให้ไต้หวันเข้าร่วมในการประชุม กลไกและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องของ WHO ภายใต้หลักการความเป็นมืออาชีพและจุดยืนที่เป็นกลาง
ในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกของประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ ไต้หวันจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือกับประชาคมโลก เสริมสร้างและยกระดับความมั่นคงทางสาธารณสุขระหว่างประเทศในเชิงลึกต่อไป โดยกต.ไต้หวันจะยึดมั่นในหลักการ “ความเป็นมืออาชีพ การนำไปปฏิบัติได้จริง และการอุทิศตน” เร่งประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันการเข้าร่วมใน WHO อย่างกระตือรือร้นต่อไป