New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 20 พ.ค. 66
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 20 พ.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ทำหน้าที่เป็นประธานในงานแถลงข่าว ภายใต้หัวข้อ “การพลิกโฉมประเทศ ภายใต้การบริหารประเทศ 7 ปี เพื่อให้ไต้หวันเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวโลกอีกครั้ง” โดยปธน.ไช่ฯ ได้ชี้แจงผลสัมฤทธิ์จากการบริหารประเทศของตนในระยะเวลาตลอด 7 ปีที่ผ่านมา พร้อมกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะทำหน้าที่เป็น “ผู้พิทักษ์” หลักการประชาธิปไตยและเสรีภาพของไต้หวันให้คงอยู่ต่อไป และจะทำหน้าที่เป็น “ผู้สร้างคุณประโยชน์” ให้แก่วิถีชีวิตของประชาชนต่อไป ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนชาวไต้หวันมีความผาสุก ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าไปอีกขั้น
การกล่าวปราศรัยของปธน.ไช่ฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้ :
7 ปีที่แล้ว พวกเรายึดมั่นในอุดมการณ์การเปลี่ยนแปลงของประเทศชาติ ก้าวไปสู่การปฏิรูปทีละขั้น ตราบจนปัจจุบัน พวกเราได้ทำให้ภาพลักษณ์ของไต้หวัน เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 7 ปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด
สิ่งหนึ่งที่มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือ “อุตสาหกรรมกลาโหมแบบพึ่งพาตนเอง” ของไต้หวัน มิได้เป็นเพียงความฝันอีกต่อไป พิธีเฉลิมฉลองวันชาติที่จัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว พวกเราได้เห็น “เครื่องบินฝึกไอพ่นสมรรถนะสูงรุ่นใหม่ T-5 Brave Eagle” (หรือ หย่งอิง (勇鷹) แปลว่า เหยี่ยวที่กล้าหาญ) ทะยานขึ้นสู่น่านฟ้าเหนืออาคารทำเนียบประธานาธิบดี ประกอบกับเรือดำน้ำ IDS ลำแรกของไต้หวัน เตรียมที่จะปฏิบัติภารกิจใต้น้ำในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้
อีก 1 ความแตกต่างคือ เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่เกิดจากความขัดแย้งทางการค้า ระหว่างจีน - สหรัฐฯ ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดรุนแรงในรอบ 100 ปีที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่เศรษฐกิจของไต้หวันกลับสามารถขยายตัวเติบโตสวนกระแสได้อย่างเหลือเชื่อ ซึ่งไต้หวันสามารถสนองความต้องการภายในประเทศ ภายใต้ “โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน” ได้อย่างเกินประสิทธิภาพ อีกทั้งภายใต้ข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีที่พัฒนามาจาก “6 อุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์” อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของไต้หวันสวมบทบาทที่สำคัญที่ไม่สามารถมีใครมาแทนที่ได้ในระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
7 ปีที่แล้ว พวกเราได้ริเริ่มผลักดัน “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” เฉพาะในปีที่แล้ว มูลค่าการส่งออกของไต้หวันไปสู่กลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ทะลุยอดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 96,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนอกจากพวกเราจะวางรากฐานในตลาดต่างประเทศแล้ว ยังได้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากจากต่างประเทศ ผ่านโครงการการลงทุนในไต้หวัน 3 รายการ รวมไปถึงการดึงดูดให้ผู้ประกอบการไต้หวันลงทุนในประเทศ ซึ่งได้มีการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนทั้งสิ้น รวมเป็นจำนวนเงินกว่า 240 ล้านล้านเหรียญไต้หวัน ประกอบกับตลอดระยะเวลา 7 ปีมานี้ เหล่าผู้ประกอบการต่างชาติได้อัดฉีดเม็ดเงินลงทุนในไต้หวัน เพิ่มเป็นจำนวนเงินกว่า 2 ล้านล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในไต้หวันของประชาคมโลกแล้ว ยังเป็นการพลิกโฉมบริบทการขยายอุตสาหกรรมของไต้หวันไปยังประเทศจีนซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของไต้หวันอีกด้วย
เมื่อ 7 ปีที่แล้ว โครงสร้างพลังงานสีเขียวของไต้หวันเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น แต่ในปีที่ผ่านมา กำลังผลิตไฟฟ้าตลอดทั้งปีที่ได้จากจากพลังงานหมุนเวียน มีประสิทธิภาพแซงหน้าพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานนิวเคลียร์แล้ว โดยมีการคาดการณ์ว่าจวบจนปลายปีนี้ อุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากกลุ่มผู้ประกอบการต่างชาติและผู้ประกอบการภายในประเทศ ได้กว่าล้านล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งจะเป็นการชักจูงอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำที่เปี่ยมประสบการณ์ในระดับนานาชาติ และสถาบันทางการเงินที่มีความเชี่ยวชาญ ก้าวเข้าสู่ไต้หวัน เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันเกิดการเชื่อมโยงกับนานาชาติต่อไป
เมื่อหลายวันที่ผ่านมา ไต้หวันได้เปิดดำเนินการฟาร์มกังหันลม Formosa II ที่มีขอบเขตที่กว้างขวางมากที่สุด ที่ตั้งอยู่ในเมืองเหมียวลี่ ซึ่งเปรียบเสมือนการมองเห็นอนาคตของการเปลี่ยนผ่านสู่การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของไต้หวัน ภายในปี 2050
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา ไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้ร่วมกันประกาศเนื้อความในข้อตกลงฉบับแรก ภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ครอบคลุมในส่วนต่างๆ ต่อเนื่องจากการลงนามของทั้งสองฝ่ายในปีค.ศ.1979 ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การอำนวยความสะดวกทางการค้าไปจนถึงการดำเนินธุรกิจและการขยายตัวของผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปจนถึงประเด็นทางการค้าล่าสุดในระดับสากล
ต่อประเด็นการเผชิญหน้ากับการโจมตีจากจีนด้วยกำลังทหารและช่องทางไซเบอร์ ประชาชนชาวไต้หวันใช้สติและความอดทน ไม่ยั่วยุท้าทาย โดยภาคประชาชนต่างร่วมสำแดงพลังความยึดมั่นในประชาธิปไตยและเสรีภาพอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาคมโลกมองเห็นความทรหดของไต้หวันแล้ว ยังส่งเสริมให้พลังเสียงสนับสนุนไต้หวันจากประชาคมโลก ทวีความแข็งแกร่งเพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยมีมา
สำหรับประเด็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด – 19 และการดำเนินชีวิตของพลเมืองภายในประเทศ พวกเราจะเร่งปรับปรุงและเสริมสร้างรูปแบบอุตสาหกรรมด้วยงบประมาณพิเศษที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับมือกับความท้าทายในยุคหลังโควิด – 19 โดยสภาบริหารนอกจากจะมุ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ก็ยังต้องยื่นเสนอกลไกการดึงดูดบุคลากรให้ร่วมสร้างคุณประโยชน์อย่างยั่งยืนในสายอาชีพ และยื่นเสนอแผนการว่าจ้างบุคลากรที่ครอบคลุมสมบูรณ์ โดยพวกเราจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพการพัฒนาทางอุตสาหกรรมในทุกสายงานอาชีพ และเตรียมความพร้อมล่วงหน้าในการเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไต้หวันในภายภาคหน้าต่อไป
หลังการปลดล็อคมาตรการควบคุมการเข้า – ออกพรมแดน ไต้หวันก็ได้เร่งประชาสัมพันธ์และเชิญนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งรวมไปถึงเชิญชวนให้มิตรสหายชาวฮ่องกง มาเก๊าและจีน เดินทางมาเยือนสัมผัสประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวในไต้หวัน
ขณะนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการยื่นภาษีเงินได้ของบุคคลทั่วไปในไต้หวัน โดยมาตรการการยกเว้นและค่าลดหย่อนภาษีได้มีการเพิ่มวงเงินให้สูงขึ้น เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของภาคประชาชน โดยในอนาคต ภายใต้ระบบการคลังที่มีเสถียรภาพเช่นนี้ พวกเราจะมุ่งสู่ทิศทางการปรับเพิ่มค่าตอบแทน ค่าลดหย่อนภาษีและเพิ่มสวัสดิการให้แก่ภาคประชาชนต่อไป
นอกจากคำนึงถึงเศรษฐกิจของบรรดาประชาชนแล้ว ปธน.ไช่ฯ เห็นว่า ยังมีปัจจัยสำคัญอีก 2 ประการที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศในลำดับต่อไป ประการแรกคือการรักษาสถานภาพของไต้หวันในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก ส่วนประการที่สองคือการธำรงรักษาสถานภาพทางสันติภาพและเสถียรภาพในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน
เมื่อเผชิญกับสงครามรัสเซีย – ยูเครนที่ยังคงดำเนินอยู่ตราบจนปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า การแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ และการครอบครองดินแดนกำลังคืบคลานมาสู่อารยธรรมและกลไกทางประชาธิปไตยทั่วโลก อันนำมาซึ่งวิกฤตเงินเฟ้อและความถดถอยทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อรูปแบบเศรษฐกิจการค้าหลังยุค
โควิด – 19 และระบบห่วงโซ่อุปทานที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง
ท่ามกลางสถานการณ์ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกเหล่านี้ พวกเรามุ่งมั่นปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการค้าของไต้หวันอย่างกระตือรือร้นตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไปจนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร ตั้งแต่เครื่องจักรกลที่มีความแม่นยำสูงไปจนถึงเทคโนโลยี IoT หรือแม้กระทั่งการเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียว ศักยภาพการแพทย์ชีวภาพ อันนำไปสู่การพัฒนาให้เกิดโอกาสการทำงานที่มีคุณภาพ
อีกทั้งพวกเรายังพลิกโฉมบริบทการก้าวสู่เวทีนานาชาติผ่านจีนเมื่อยุคอดีต มาเป็นการอาศัยภาพลักษณ์ “การผลิตในไต้หวัน” (Made in Taiwan, MIT) มาเป็นตัวแทนในการก้าวสู่เวทีนานาชาติ
ที่สำคัญที่สุดคือ พวกเราส่งเสริมให้การบริหารประเทศในรูปแบบประชาธิปไตยที่ทั่วโลกเชื่อมั่นและไว้วางใจ เกิดการผสมผสานกับศักยภาพทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และภาคอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและสมบูรณ์ ซึ่งพวกเราได้แสดงให้ทั่วโลกประจักษ์แล้วว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือที่น่าเชื่อถือมากที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด และมีความมั่นคงที่สุดในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก
ไต้หวันแม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความเสี่ยงมากมาย แต่พวกเรามิใช่ตัวก่อให้เกิดความเสี่ยง ในทางกลับกันพวกเรามีหน้าที่ควบคุมบริหารความเสี่ยงมิให้ลุกลามเป็นวงกว้าง โดยในอนาคตไต้หวันและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันจะประสานความร่วมมือในการกำจัดความเสี่ยงเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป
ในปัจจุบันไต้หวันถือเป็นคำค้นหาที่สำคัญของประชาคมโลก ประเด็นช่องแคบไต้หวัน ได้พัฒนาจากระดับภูมิภาคมาเป็นจุดสนใจของทั่วโลกที่มีความเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในระดับนานาชาติ ซึ่งทั่วโลกล้วนมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น พวกเราจึงจำเป็นต้องใช้มุมมองระดับโลก มาแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน
ขณะนี้ ทั่วโลกต่างยึดมั่นในฉันทามติเดียวกันคือ ประเด็นช่องแคบไต้หวันต้องแก้ไขด้วยสันติวิธี สงครามมิใช่ตัวเลือกของการแก้ไขปัญหา
การรักษาสถานภาพเดิมในปัจจุบัน หลีกเลี่ยงการเกิดความขัดแย้ง และอาศัยการเจรจาอย่างเท่าเทียมมาแก้ไขความเห็นต่างในสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนอย่างมีระบบระเบียบ เป็นหน้าที่ร่วมกันของรัฐบาลไต้หวันโดยไม่แบ่งแยกฝักฝ่าย และเป็นหน้าที่ร่วมกันของสองฝั่งช่องแคบไต้หวันด้วย
ในช่วงท้ายสุด ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า ประชาธิปไตยของไต้หวันมิได้หล่นมาจากฟากฟ้า สันติภาพของพวกเรามิใช่ได้มาด้วยการวิงวอนคุกเข่าขอร้อง การธำรงรักษาสันติภาพต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ตนเองเสียก่อน ยิ่งพวกเราสามัคคีกันมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น ไต้หวันยิ่งมั่นคง ทั่วโลกก็ยิ่งมั่นคงตามไปด้วยเช่นกัน