New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 22 พ.ค. 66
แผนผลักดันการเข้าร่วม “องค์การอนามัยโลก” (WHO) และ “การประชุมสมัชชาอนามัยโลก” (WHA) ของไต้หวัน ภายใต้หลักการ “ความเป็นมืออาชีพ การนำไปปฏิบัติได้จริง และการอุทิศตน” ได้รับการยอมรับจากทุกแวดวงในประชาคมโลก ก่อนการเปิดฉากการประชุม WHA ครั้งที่ 76 ในปี 2023 มีมิตรสหายนานาชาติจำนวนกว่า 6,000 คนจาก 70 กว่าประเทศใน 5 ทวีปทั่วโลก ซึ่งส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานบริหาร หน่วยงานนิติบัญญัติ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่คลังสมองและกลุ่มเอกชน ร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมใน WHO และ WHA ด้วยวิธีการที่หลากหลาย อาทิ การเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันอย่างเปิดเผย การยื่นหนังสือเรียกร้องต่อสำนักงานเลขาธิการ การประกาศแถลงการณ์ การเจรจาหารือ การลงมติผ่านญัตติหรือร่างกฎหมาย การตอบข้อซักถามในที่ประชุมสภา การบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า การจัดขบวนพาเหรด และการโพสต์ข้อความลงในสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นต้น กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอแสดงความขอบคุณด้วยใจจริง
ตราบจนปัจจุบัน บรรดาประเทศพันธมิตรของไต้หวันยังคงให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ 12 ประเทศพันธมิตรของไต้หวันที่เป็นประเทศสมาชิกใน WHO ร่วมยื่นเสนอญัตติ “การเชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ในฐานะผู้สังเกตการณ์” จัดเข้าเป็นวาระการประชุม WHA ประจำปีนี้ในช่วง “วาระเสริม” (Supplementary item) โดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของประเทศพันธมิตร ก็ได้ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันอย่างเปิดเผย อาทิ H.E. Alejandro Giammattei ประธานาธิบดีสาธารณรัฐกัวเตมาลา Mr. Ralph Gonsalves นายกรัฐมนตรีเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ Mr. Geoffrey Hanley รองนายกรัฐมนตรีเซนต์คิตส์และเนวิส และ Ms. Kitalang Kabua รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ นอกจากนี้ เหล่าตัวแทนประเทศพันธมิตรของไต้หวันที่ประจำการอยู่ในกรุงเจนีวา ก็ได้รวมตัวกันเป็น “กลุ่มพันธมิตรไต้หวัน” ในการร่วมลงนามพร้อมส่งหนังสือเรียกร้องต่อเลขาธิการใหญ่ WHO เพื่อแสดงจุดยืนให้การสนับสนุนต่อแผนผลักดันของไต้หวันอย่างเต็มที่ ประกอบกับพลังเสียงสนับสนุนจากกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ที่นับวันยิ่งทวีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้นในทุกปี หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายประเทศที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวัน ผ่านแถลงการณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงแถลงการณ์ร่วมแบบทวิภาคีหรือแบบพหุภาคีหรือจดหมายข่าว แสดงให้เห็นถึงพลังสนับสนุนไต้หวันอันเหลือล้นที่มีในประชาคมโลก
ส่วนในด้านสมาชิกสภาของนานาประเทศและสมาชิกสภาแบบข้ามพรรคข้ามพรมแดน ต่างก็ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเป็นเอกฉันท์ จึงจะเห็นได้ว่า การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในการประชุม WHA ถือเป็นความคิดเห็นของประชาชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ หน่วยงานนิติบัญญัติของนานาประเทศ รัฐสภายุโรปและ “สโมสรฟอร์โมซา” (Formosa Club) จากทั่วทุกพื้นที่ ต่างก็ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันผ่านวิธีการที่หลากหลายด้วยเช่นกัน
พลังภาคเอกชนก็นับเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการสนับสนุนไต้หวัน กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล องค์กรการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างประเทศ และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของไต้หวัน ที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ทั่วทุกมุมโลก ต่างร่วมสำแดงพลังการสนับสนุนไต้หวันโดยภาคประชาชน ผ่านวิธีการที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ เช่น การจัดขบวนพาเหรด การจัดนิทรรศการภาพลักษณ์ไต้หวัน และการจัดการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ รวมไปถึงกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อผนึกกำลังการสนับสนุนแผนผลักดันของไต้หวัน นอกจากนี้ ในปีนี้ นานาประเทศทั่วโลกยังร่วมตอบรับกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ของไต้หวันผ่านสื่อโซเชียล ภายใต้แฮชแท็ค “#TaiwanCanhelp” “#LetTaiwanHelp” “#LetTaiwanIn” และ “#WHONeedsTaiwan” ภายในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ก็มีผู้สมัครใจเข้าร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เป็นจำนวนกว่า 3,000 คนจาก 50 กว่าประเทศทั่วโลก ซึ่งนอกจากจะประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาแบบข้ามพรรค และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ สมาชิกสภาของกลุ่มมิตรประเทศ และสมาชิกรัฐสภายุโรปแล้ว ยังมีสื่อมวลชน กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ที่ร่วมเรียกร้องเป็นเสียงเดียวกัน ในการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม WHA ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ส่วนธารน้ำใจของไต้หวันในการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวยูเครนและผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน ต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวยูเครนที่ยินดีสมัครใจโพสต์ข้อความลงในสื่อโซเชียล แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งความดีงามของไต้หวัน ที่มีบทบาทเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดเป็นวัฏจักรเชิงบวกแห่งสนับสนุนไต้หวันต่อไป
พลังเสียงสนับสนุนไต้หวันให้เข้าร่วมการประชุม WHA นับวันยิ่งได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแสดงให้ว่า ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเชิญให้ไต้หวันเข้าร่วมใน WHO โดยเฉพาะการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศของไต้หวัน ที่ถูกจีนขัดขวางทุกรูปแบบอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยจีนยังกล่าวอ้างว่าจะร่วมดูแลสุขภาพของประชาชนชาวไต้หวันอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ด้วยเหตุนี้ ทุกแวดวงทั่วโลกจึงยิ่งตระหนักเห็นถึงความจำเป็นในการเชิญให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมใน WHO ซึ่งกต.ไต้หวันขอเรียกร้องให้ WHO เร่งบรรลุหลักการและวัตถุประสงค์ตามกฎบัตรที่ระบุไว้ว่า “สุขภาพดีถ้วนหน้า” (Health For All) พร้อมทั้งเปิดใจรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาคมโลกที่ต้องการจะเห็นไต้หวันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน WHO ด้วยการเชิญให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA รวมไปถึงการประชุม กิจกรรมและกลไกต่างๆ ของ WHO อย่างเท่าเทียมและสมศักดิ์ศรี