New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 23 พ.ค. 66
การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 76 เปิดฉากขึ้นแล้ว ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. โดยในระหว่างนี้ 4 ตัวแทนประเทศพันธมิตรไต้หวัน ได้แก่เบลีซ สาธารณรัฐนาอูรู ราชอาณาจักรเอสวาตินีและสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ ได้ร่วมจัด “การอภิปรายแบบ 2 ต่อ 2” กับตัวแทนเจ้าหน้าที่ภาครัฐของจีนและประเทศที่ฝักใฝ่ฝ่ายจีน โดยกลุ่มพันธมิตรไต้หวันได้ร่วมประณาม “หลักการจีนเดียว” ที่จีนใช้กล่าวอ้างในเวทีนานาชาติ แต่ปราศจากซึ่งฉันทามติร่วมกันในประชาคมโลก อีกทั้งยังจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงในญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 และญัตติที่ประชุม WHA ฉบับที่ 25.1 เพื่อขัดขวางมิให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ตัวแทนรัฐบาลสาธารณรัฐกัวเตเมาลายังได้ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันใน “การอภิปรายทั่วไป” เพื่อให้การยอมรับว่าไต้หวันเป็นพันธมิตรที่สำคัญและเป็นหุ้นส่วนที่สามารถสร้างคุณประโยชน์ด้านสาธารณสุขและสุขภาพให้แก่ประชาคมโลกได้
การประชุมในครั้งนี้ กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่างร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันอย่างกระตือรือร้น โดยในระหว่างการประชุม ตัวแทนจาก 7 ประเทศอย่างญี่ปุ่น อังกฤษ ออสเตรีย เช็ก ฝรั่งเศส แคนาดาและสหรัฐอเมริกา ต่างร่วมเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งในระบบสาธารณสุขโลก พร้อมให้การยอมรับว่าไต้หวันเป็นต้นแบบด้านสาธารณสุขในระดับสากล จึงควรได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประชุม WHA ในฐานะผู้สังเกตการณ์ รวมไปถึงการประชุม กลไกและกิจกรรมของ “องค์การอนามัยโลก” (WHO) โดยในระหว่างนี้ ยังมีหลายประเทศที่ขานรับต่อแผนผลักดันการเข้าร่วม WHO ของไต้หวัน ด้วยการเรียกร้องให้ WHO ตระหนักถึงความจำเป็นในการเชิญไต้หวันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ WHO
ท่ามกลางพลังเสียงสนับสนุนไต้หวันอันท่วมท้นจากนานาประเทศทั่วโลก ก่อนการปิดการประชุมในวันที่ 22 พ.ค. ตัวแทนรัฐบาลจีนได้ใช้สิทธิในการตอบโต้ โดยวิจารณ์กลุ่มประเทศข้างต้นที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันว่า ฝ่าฝืนญัตติที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติ รวมถึง “หลักการจีนเดียว” นอกจากนี้ จีนซึ่งเป็นผู้สร้างแรงกดดัน และกีดกันไต้หวันไม่ให้มีส่วนร่วมใน WHO ยังกล่าวอ้างว่า ภายใต้การให้ความช่วยเหลือจากจีน ไต้หวันจึงสามารถร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับองค์การ WHO ได้โดยตรง ซึ่งส่งผลให้ไต้หวันสามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในประเด็นสาธารณสุขโลกได้อย่างทันท่วงที โดยตัวแทนฝ่ายสหรัฐฯ ก็ได้ใช้สิทธิโต้วาทีในการต่อต้านคำกล่าวอ้างข้างต้นของจีน พร้อมให้การสนับสนุนไต้หวันว่าเป็นต้นแบบของการสกัดกั้นโรคระบาดที่ประสบความสำเร็จ จึงสมควรที่จะได้รับเชิญจาก WHO พร้อมนี้ เจ้าหน้าที่ภาครัฐของสหรัฐฯ ยังแสดงจุดยืนว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ยึดมั่นในนโยบายการสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมอย่างมีความหมายในองค์การระหว่างประเทศ อย่าง WHO อย่างหนักแน่น
“ประเทศที่เปี่ยมคุณธรรม จะไม่มีวันโดดเดี่ยว” กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอแสดงความขอบคุณต่อประเทศพันธมิตรและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในการร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในระหว่างการประชุม WHA ประจำปีนี้ โดยหน่วยงานบริหาร หน่วยงานนิติบัญญัติ และมิตรสหายนานาชาติจากทุกแวดวง ร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมใน WHO และ WHA ด้วยวิธีการที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการปลุกพลังความฮึกเหิมให้แก่รัฐบาลและประชาชนไต้หวัน โดยไต้หวันจะยึดมั่นในหลักการ “ความเป็นมืออาชีพ การนำไปปฏิบัติได้จริง และการอุทิศตน” อย่างต่อเนื่อง ด้วยการประสานความร่วมมือกับเหล่าประเทศพันธมิตรและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อร่วมธำรงรักษาความมั่นคงทางสาธารณสุขโลก โดยกต.ไต้หวันยังขอใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้ WHO ยึดมั่นในหลักการความเป็นกลางและความเป็นมืออาชีพ ขจัดเงามืดทางการเมืองและก้าวข้ามแรงกดดันที่ไม่ประสงค์ดีจากจีน สดับฟังเสียงเรียกร้องจากประชาคมโลก เร่งเชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA ในฐานะผู้สังเกตการณ์ รวมไปถึงการประชุม กลไกและกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องของ WHO เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันและประชาคมโลกร่วมสรรค์สร้างอนาคตที่มีความเข้มแข็งและยืดหยุ่น ในการบรรลุหลักการ “สุขภาพดีถ้วนหน้า”