New Southbound Policy Portal

ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ร่วมจัดการประชุมระดับนานาชาติภายใต้กรอบความร่วมมือ GCTF ในระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ครั้งที่ 76 ที่จัดขึ้นในกรุงเจนีวา เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการแพทย์ระดับนานาชาติ

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 24 พ.ค. 66
 
เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านการแพทย์ ระหว่างไต้หวันและประชาคมโลก ควบคู่ไปกับการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเข้าร่วม “องค์การอนามัยโลก” (WHO) และ “การประชุมสมัชชาอนามัยโลก” (WHA) ของไต้หวัน เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา ในระหว่างการประชุม WHA ตัวแทนรัฐบาลไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ได้ร่วมจัดการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ในหัวข้อ “โอกาสการจัดตั้งกลไกการรับมือและตอบสนองต่อโรคระบาดอย่างยั่งยืนในภายภาคหน้า ยุคหลังโควิด - 19” (GCTF Workshop on Post-COVID-19 Era: An Opportunity to Build Sustainable Preparedness for and Response to the Next Pandemic)
 
การประชุมในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ร่วมจัดการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือ GCTF ขึ้นเป็นครั้งแรก ในระหว่างการประชุม WHA ที่จัดขึ้นในกรุงเจนีวา โดยผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายต่างร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึกในด้านประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดและความเชี่ยวชาญทางสาธารณสุข ซึ่งทุกฝ่ายล้วนแล้วแต่ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระดับโลก เพื่อส่งเสริมความมั่นคงในระบบสาธารณสุข โดยบรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างคึกคัก และบังเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นที่พึงพอใจ โดยมีนายหลัวอีจวิน รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยีนายเซวียรุ่ยหยวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าคณะทำงานเนื่องในวาระการประชุม WHA นางซูอิ๋งจวิน ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในกรุงเจนีวา และ Ms. Loyce Pace ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ เข้าร่วมกล่าวปราศรัยในการประชุมครั้งนี้
 
รมว.เซวียฯ ชี้ว่า เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่มีประเทศใดที่สามารถหลีกเลี่ยงจากวิกฤตนี้ได้ “แผนข้อเสนอว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามภัยคุกคามอุบัติใหม่” (The Preparedness and Resilience for Emerging Threats, PRET) ที่ WHO ยื่นเสนอในยุคหลังโควิด – 19 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่นานาประเทศในการยกระดับความทรหดด้านการป้องกันโรคระบาดที่อาจเกิดเหตุไม่คาดฝันเช่นนี้ขึ้นอีกในภายภาคหน้า
 
Ms. Loyce Pace ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ เน้นย้ำในระหว่างการปราศรัยว่า เราควรเรียนรู้จากประสบการณ์ภายใต้วิกฤตสถานการณ์โควิด – 19 ในครั้งนี้ และตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดครั้งรุนแรง พร้อมระบุว่า นอกจากการตรวจคัดกรองทางการแพทย์และการคำนวณตัวเลขสถิติ ที่นานาประเทศได้มุ่งมั่นดำเนินการตลอดช่วงที่ผ่านมา การเตรียมพร้อมทางด้านเวชภัณฑ์การป้องกันโรคระบาดและศักยภาพทางนวัตกรรม ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐของสหรัฐฯ ได้ให้การยอมรับต่อการประสานความร่วมมือในทุกรูปแบบกับไต้หวันและพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ผ่านแพลตฟอร์มแบบทวิภาคี กลไกระดับภูมิภาคและกรอบความร่วมมือ GCTF
 
โดยการประชุมแบบปิดในครั้งนี้ได้มีการเชิญเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงในหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ จำนวนกว่า 30 คนจาก 10 ประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เช่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เยอรมนี สวีเดนและเช็กเกีย เข้าร่วมอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องร่วมกัน