New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 25 พ.ค. 66
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางไปเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำในวัน “Europe Day” ประจำปี 2023 โดยปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า หัวข้อของงานเลี้ยงในครั้งนี้คือ “การเสริมสร้างความทรหดของไต้หวัน” แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน – สหภาพยุโรป (EU) ที่มีมาแต่ช้านาน อีกทั้งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงคุณประโยชน์ที่เหล่าผู้ประกอบการการค้าของกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ได้อุทิศให้แก่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและความทรหดของไต้หวัน ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายนานับประการ โดยในช่วงที่ผ่านมา ความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – EU ได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การกำหนดนโยบายไปจนถึงความสัมพันธ์ทางการทูต จึงอาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – EU เป็นไปอย่างเหนียวแน่น ภายใต้เป้าหมายและค่านิยมด้านประชาธิปไตยที่ยึดมั่นร่วมกัน
เนื้อหาการกล่าวปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษของปธน.ไช่ฯ มีสาระสำคัญดังนี้ :
นับเป็นครั้งที่ 7 แล้วที่ตนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำในวัน “Europe Day” ที่จัดโดยหอการค้ายุโรป หลังเสร็จสิ้นงานเลี้ยงอาหารค่ำเนื่องในวัน “Europe Day” เมื่อปีที่แล้ว หอการค้ายุโรปได้มีการคัดเลือกประธานและกลุ่มผู้บริหารหอการค้ายุโรป ประจำปี 2023 จึงขอใช้โอกาสนี้ร่วมแสดงความยินดีกับ Mr. Giuseppe Izzo ประธานหอการค้ายุโรป เชื่อว่าภายใต้การนำของ Mr. Izzo หอการค้ายุโรปจะมุ่งสู่การพัฒนาที่เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น และขอถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อ Mr. Filip Grzegorzewski ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานเศรษฐกิจและการค้ายุโรป (European Economic and Trade Office ,EETO) ประจำไต้หวัน ที่มุ่งมั่นให้การสนับสนุนความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน – EU เสมอมา
หลายปีมานี้ ไต้หวัน กลุ่มประเทศในทวีปยุโรปและนานาประเทศทั่วโลก ต่างต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างไม่สิ้นสุด พวกเราต้องก้าวผ่านวิกฤตสถานการณ์โรคระบาดครั้งรุนแรง การขาดช่วงของระบบห่วงโซ่อุปทาน ภาวะเงินเฟ้อและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ การผงาดขึ้นของประเทศลัทธิอำนาจนิยม ยิ่งทำให้ความท้าทายเหล่านี้ ทวีความรุนแรงหนักมากยิ่งขึ้น ซึ่งตราบจนขณะนี้ ยูเครนยังต้องรับมือกับการรุกรานของรัสเซียอย่างไม่มีท่าทีจะสิ้นสุด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ พวกเราสามารถก้าวผ่านความท้าทายได้อย่างราบรื่นกันโดยถ้วนหน้า และก้าวสู่การเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งและทรหดของกันและกัน
ในปี 2021 EU ได้ประกาศ “แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก” โดยย้ำถึงความสำคัญของภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกที่มีต่อประชาคมโลก พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกประสานความร่วมมือกับไต้หวัน และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปได้มีมติผ่าน “ร่างกฎหมายว่าด้วยแผ่นชิปวงจรรวมในกลุ่มประเทศยุโรป” เพื่อเป็นการวางรากฐานที่มีเสถียรภาพในด้านการเสริมสร้างความมั่นคงของระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมแผ่นชิปวงจรรวม ควบคู่ไปกับการยกระดับความสัมพันธ์ทางความร่วมมือด้านความทรหดของระบบห่วงโซ่อุปทาน ระหว่างไต้หวัน – EU ในเชิงลึกต่อไป
เมื่อปีที่แล้ว ตนได้ยื่นเสนอ “โครงการเสริมสร้างความเชื่อมโยงกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป” โดยไต้หวันได้มีการจัดตั้งกองทุนการเงินและการลงทุนในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เพื่อสร้างความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์อย่างเทคโนโลยีชีวภาพและรถพลังงานไฟฟ้า ยกตัวอย่างเช่น ในลิทัวเนีย กองทุนนี้ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเลเซอร์และการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ระหว่างไต้หวัน - ลิทัวเนีย โดยกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดสรรงบประมาณ 10 ล้านเหรียญยูโร เพื่อการจัดทำโครงการความร่วมมือด้านเซมิคอนดักเตอร์ในลิทัวเนีย ภายในระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป
นอกจากนี้ “6 อุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์” และนโยบายการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ที่ไต้หวันมุ่งผลักดัน ก็มีความสอดคล้องกับ “นโยบายสีเขียว” และ “การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล” ที่กำหนดโดย EU เนื่องด้วยความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เป็นความท้าทายที่เขตเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบัน การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวของกลุ่มผู้ประกอบการยุโรปในไต้หวัน ถือเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่งของไต้หวัน โดยเมื่อช่วงที่ผ่านมา เพิ่งมีการจัดพิธีเปิดดำเนินการฟาร์มกังหันลม Formosa II อันเกิดจากการร่วมลงทุนของเหล่าผู้ประกอบการยุโรปด้วย
เมื่อปีที่แล้ว พวกเราได้เห็นว่า EU และรัฐสภาของกลุ่มประเทศสมาชิก ได้ให้ความสนับสนุนต่อไต้หวันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งนอกจากจะมีการร่วมลงมติเห็นชอบต่อญัตติและแถลงการณ์ที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน รวม 30 กว่าฉบับแล้ว ยังมีคณะตัวแทนจากกลุ่มประเทศยุโรปเดินทางมาเยือนไต้หวัน เป็นจำนวน 15 กลุ่ม โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ พวกเรายังได้ให้การต้อนรับคณะตัวแทนจากยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส สวีเดนและอังกฤษ อย่างต่อเนื่อง
หลายเดือนมานี้ ก็ยังมีผู้นำในกลุ่มประเทศทวีปยุโรป ทยอยร่วมเป็นกระบอกเสียงด้านสันติภาพในภูมิภาค เช่น Ms. Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า เสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันมีความสำคัญยิ่ง Mr. Josep Borrell ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป ก็ได้เน้นย้ำความสำคัญของการรักษาสันติภาพในภูมิภาคเช่นเดียวกัน
เนื่องจากผู้นำในกลุ่มประเทศยุโรปต่างตระหนักดีว่า ช่องแคบไต้หวันเป็นหนึ่งในเส้นทางการเดินเรือที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ระดับโลก ในแต่ละปีมีเรือขนส่งสินค้าในสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกแล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน ด้วยเหตุนี้ การสนับสนุนความทรหดของไต้หวันและการธำรงรักษาสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญของความเจริญรุ่งเรืองระดับโลก
เศรษฐกิจการค้าระหว่างไต้หวัน – EU ยังคงขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในปี 2022 มูลค่าการค้าแบบทวิภาคี มีมูลค่ารวมมากกว่า 92,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการลงทุนสะสมของผู้ประกอบการยุโรปในไต้หวัน ก็มีมูลค่ารวมกว่า 55,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงถือได้ว่า EU เป็นแหล่งที่มาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ( FDI ) ที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน
ตัวเลขสถิติเหล่านี้ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอันแข็งแกร่งของไต้หวัน และเป็นการเตือนให้พวกเราร่วมรับรู้ว่า ยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปได้อีกมาก พวกเราจึงคาดหวังที่จะขยายขอบเขตความร่วมมือ ผ่านการลงนามความตกลงทางการลงทุนแบบทวิภาคี ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองฝ่ายเป็นไปอย่างแนบแน่นยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างหลักประกันทางความมั่นคงให้แก่ไต้หวัน ประเทศยุโรปและทั่วโลกอีกด้วย