New Southbound Policy Portal

นายเติ้งเจิ้นจง รมว.ประจำสภาบริหารไต้หวัน แสวงหาโอกาสการเข้าร่วม CPTPP ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านการค้า ประจำปีนี้

สภาบริหาร วันที่ 27 พ.ค. 66
 
ในปีนี้ สหรัฐฯ เป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยเมื่อช่วงระหว่างวันที่ 25 – 26 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านการค้า ขึ้น ณ เมืองดีทรอยต์ในรัฐมิชิแกน โดยมี Ms. Katherine Chi Tai ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยกลุ่มประเทศสมาชิกเอเปค ต่างมอบหมายให้รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้า เดินทางเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้
 
หัวข้อการอภิปรายในการประชุมครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนกลไกการค้าแบบพหุภาคี ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการค้าที่ยั่งยืนและยอมรับซึ่งกันและกัน โดยในระหว่างการประชุมสมัชชาและการประชุมหารือแบบทวิภาคีกับกลุ่มประเทศสมาชิก เจ้าหน้าที่ตัวแทนไต้หวันได้ทำการชี้แจงต่อกรณีที่ไต้หวันให้ความเคารพต่อหลักนิติธรรมและกฎระเบียบระหว่างประเทศ โดยพวกเราพร้อมแล้วที่จะเคารพและปฏิบัติตามมาตรฐานระดับสูงของกฎระเบียบทางการค้าและการลงทุน จึงคาดหวังที่จะเห็นกลุ่มประเทศสมาชิกของ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมเป็นสมาชิกของความตกลงฯ เพื่อการสร้างคุณประโยชน์ด้านความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดแก่ภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกต่อไป
 
ต่อประเด็น “การสนับสนุนกลไกการค้าแบบพหุภาคี” เจ้าหน้าที่ตัวแทนไต้หวัน เน้นย้ำในระหว่างการประชุมสมัชชาว่า ไต้หวันให้ความเคารพต่อกลไกทางการค้าแบบพหุภาคี และเห็นพ้องต้องกันว่าระบบควรตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและสังคม จึงเร่งแสวงหาโอกาสการผลักดันการปฏิรูปร่วมกับกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) พร้อมเรียกร้องให้กลุ่มประเทศสมาชิกกำหนดให้การฟื้นฟูกลไกการบริหารขององค์การ WTO กลับสู่สภาพเดิม เป็นภารกิจอันดับต้นๆ เพื่อตอบสนองต่อเจตจำนงของเหล่าผู้ประกอบการธุรกิจ ด้านระเบียบการค้ารูปแบบใหม่
 
สำหรับการบรรลุกฎระเบียบตามเกณฑ์มาตรฐานสูง ไต้หวันได้หยิบยกกรณีตัวอย่างของ “กฎระเบียบของอุตสาหกรรมการบริการภายในประเทศ” ที่กำหนดและดำเนินการเจรจาโดย WTO โดยชี้แจงว่า นอกจากไต้หวันจะทำการปรับแก้กฎหมายตามผลรายงานการเจรจาของ WTO แล้ว ยังได้มีการบังคับใช้กฎระเบียบมาตรฐานขั้นสูง หลังการเจรจาแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ พร้อมเผยความคาดหวังของไต้หวัน ในการเปิดการเจรจาร่วมกับประเทศอื่นๆ ที่มีความสนใจเช่นเดียวกัน
 
ในประเด็น “การส่งเสริมการค้าที่ยั่งยืนและยอมรับซึ่งกันและกัน” เจ้าหน้าที่ตัวแทนไต้หวันชี้แจงว่า นอกจากไต้หวันจะแสวงหาโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจแล้ว พวกเรายังให้การยอมรับต่อความสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและยอมรับซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น (1) การคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชนพื้นเมืองและขยายสิทธิประโยชน์ด้านแรงงานสำหรับกลุ่มชนพื้นเมือง ผ่านการบัญญัติกฎหมายขั้นพื้นฐานของแรงงานและชนพื้นเมือง (2) ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วยการเร่งปรับปรุงทรัพยากรมนุษย์ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งกองทุนและเครือข่ายการประชาสัมพันธ์รูปแบบดิจิทัล เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs รับหน้าที่เป็นแกนหลักของการพัฒนาทางเศรษฐกิจในไต้หวันต่อไป (3) สร้างหลักประกันของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ในโครงสร้างนโยบายความเสมอภาคทางเพศ และ (4) แสวงหาโอกาสเข้าร่วมการเจรจาของ WTO และ APEC ในประเด็นสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมการบริการด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2050
 
ในระหว่างการหารือแบบทวิภาคีระหว่างนายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร ได้แสดงความขอบคุณต่อผู้แทน Tai ที่ได้จัดการประชุมเสวนากับผู้นำกลุ่มแรงงานสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันเกิดความเข้าใจต่อความสนใจของกลุ่มแรงงานที่มีต่อประเด็นการค้า ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความร่วมมือทางนโยบายการค้าระหว่างสองประเทศในภายภาคหน้าต่อไป
 
โดยรมว.เติ้งฯ และ ผู้แทน Tai ต่างรู้สึกยินดีต่อการที่เจ้าหน้าที่ตัวแทนทั้งสองฝ่ายได้ร่วมบรรลุข้อตกลงฉบับแรก ภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” ในช่วงก่อนหน้านี้ โดยทั้งสองฝ่ายต่างให้การยอมรับต่อเนื้อหาภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้กลุ่มสตรี แรงงานและผู้ประกอบการ SMEs ของทั้งสองฝ่ายเข้ามีส่วนร่วมทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ปัจจัยทางการค้า ก้าวสู่การเป็นพลังขับเคลื่อนให้ทุกฝ่ายมุ่งสู่การพัฒนาอยางยั่งยืนร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้รัฐบาลของทั้งสองฝ่าย ประสานความร่วมมือในทิศทางเชิงบวกในกิจการการค้าและการลงทุน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนแบบทวิภาคีให้เป็นไปในเชิงลึกต่อไป