New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 31 พ.ค. 66
การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 76 ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยในปีนี้เป็นวาระครบรอบ 75 ปีแห่งการก่อตั้ง “องค์การอนามัยโลก” (WHO) ด้วยเหตุนี้ ประชาคมโลกจึงได้จับตาต่อบทบาทผู้นำด้านสาธารณสุขโลกของ WHO และให้ความสำคัญกับประสบการณ์การรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป โดยแผนผลักดันการเข้าร่วม WHO และ WHA ของไต้หวัน ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามและหนักแน่นเป็นวงกว้างในประชาคมโลก อันจะเห็นได้จากการที่บุคคลสำคัญทางการเมืองนับหมื่นคนจากนับร้อยประเทศ รวมถึงสมาชิกรัฐสภาและมิตรสหายในแวดวงต่างๆ ต่างร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันในเวทีการประชุมต่างๆ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกขอบคุณด้วยใจจริง
โดยช่วงระหว่างที่มีการจัดการประชุม WHA ในปีนี้ นายเซวียรุ่ยหยวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้นำ “คณะปฏิบัติการ WHO” เดินทางเยือนนครเจนีวา เพื่อป่าวประกาศเสียงเรียกร้องความต้องการเข้ามีส่วนร่วมการประชุม WHA ของไต้หวัน ผ่านการเข้าร่วมงานเลี้ยงทางการทูต การจัดงานแถลงข่าวนานาชาติ การเปิดเสวนาแบบทวิภาคีกับประเทศพันธมิตรของไต้หวัน สหรัฐฯ ลิทัวเนีย และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมเดินออกกำลังกายที่จัดโดย WHO และการพบปะพูดคุยกับกลุ่มเอกชนและบรรดาชาวจีนโพ้นทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ร่วมจัดการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ขึ้นในนครเจนีวา ในระหว่างการประชุม WHA เพื่อร่วมอภิปรายแนวทางการจัดตั้งกลไกการรับมือและตอบสนองต่อสถานการณ์โรคระบาดอย่างยั่งยืนในภายภาคหน้า นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้จัดการประชุมสัมมนาความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ ร่วมกับ “แพทยสมาคมโลก” (The World Medical Association, WMA) เพื่อร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การแพทย์ในระหว่างเกิดภัยพิบัติ สำแดงให้เห็นถึงศักยภาพการกู้ภัยและการแพทย์ฉุกเฉินของไต้หวัน
12 ประเทศพันธมิตรของไต้หวันที่เป็นสมาชิกของ WHO ต่างยื่นเสนอ “ญัตติว่าด้วยการเชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ในฐานะผู้สังเกตการณ์” โดย ได้ส่งตัวแทนประเทศพันธมิตรจากเบลีซ นาอูรู เอสวาตินีและหมู่เกาะมาร์แชลล์ เข้าร่วมการอภิปรายแบบ 2 ต่อ 2 รวม 2 รอบในการประชุมคณะกรรมการทั่วไปของ WHO และการประชุมกับคณะรัฐบาลจีน
พลังเสียงสนับสนุนไต้หวันจากกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ก็ทวีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้มี 13 มิตรประเทศที่ให้การสนับสนุนไต้หวัน อีกทั้งยังเป็นปีแรกที่รัฐบาลเอสโตเนียร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันอย่างเปิดเผยในการประชุม WHA อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังคงกล่าวอ้างว่า ได้จัดเตรียมแนวทางการเข้าร่วมกิจการสาธารณสุขโลกให้แก่ไต้หวันแล้ว พร้อมทั้งประณามกลุ่มประเทศที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันว่า เป็นพฤติกรรมแทรกแซงทางการเมืองในการประชุม WHA แต่ในความเป็นจริงแล้ว จีนเป็นต้นเหตุที่สร้างแรงกดดันให้ WHO กีดกันการเข้าร่วมของไต้หวัน กต.ไต้หวันขอเน้นย้ำว่า สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสาธารณรัฐประชาชนจีน มิได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ไม่เคยมีสักวันที่อำนาจการปกครองของรัฐบาลจีนได้เข้าปกครองในไต้หวัน มีเพียงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนชาวไต้หวันเท่านั้น จึงจะมีสิทธิเป็นตัวแทนของภาคประชาชนชาวไต้หวัน เข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ อย่าง WHO ทั้งนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพของประชาชนชาวไต้หวันถ้วนหน้า
นอกจากนี้ หน่วยงานสภานิติบัญญัติและองค์การรัฐสภาแบบข้ามประเทศ ต่างก็ร่วมสำแดงให้เห็นถึงพลังการสนับสนุนไต้หวันในระดับนานาชาติ ด้วยการลงมติผ่านญัตติ พร้อมยื่นส่งหนังสือให้การสนับสนุนไต้หวัน โดยคณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้มีมติให้ผ่าน “กฎหมายความเป็นปึกแผ่นระหว่างประเทศของไต้หวัน” (Taiwan International Solidarity Act)” ก่อนวันเปิดการประชุม WHA โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านพฤติกรรมของจีนที่จงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงในญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 เพื่อขัดขวางมิให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ นับว่ามีนัยยะที่พิเศษยิ่ง
นอกจากนี้ บุคคลสำคัญทางการเมือง สมาชิกรัฐสภาและกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์นานาชาติ ก็ได้ร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่น ภายใต้วลีสำคัญ “#TaiwanCanHelp” , “#LetTaiwanHelp” , “#LetTaiwanIn” “#WHONeedsTaiwan”
หลายปีมานี้ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ของไต้หวัน ได้ตระเวนไปให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในทุกพื้นที่ทั่วโลก วิดีทัศน์สั้นภายใต้ชื่อ “ไต้หวันพร้อมเคียงข้างเสมอ” (The Doctor Is In) ที่จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำเสนอให้เห็นถึงการที่ไต้หวันส่งธารน้ำใจด้านการแพทย์ไปสู่สถาบันโรคหัวใจเด็กในยูเครน รวมถึงการจัดตั้งโครงการการยกระดับกลไกการดูแลสุขภาพของทารกและสตรีในเอสวาตินีและกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา และโครงการการบ่มเพาะบุคลากรทางการแพทย์นานาชาติ ซึ่งประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดให้ประชาคมโลกประจักษ์ว่าไต้หวันมีศักยภาพและยินดีช่วยเหลือ โดยมียอดผู้เข้าชมวิดีทัศน์สั้นข้างต้น เป็นจำนวนกว่า 13.12 ล้านคนครั้ง นอกจากนี้ บทความพิเศษของ รมว.เซวียฯ หนังสือและบทความของสำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในต่างแดน รวมถึงบทวิจารณ์ที่เป็นมิตรต่อไต้หวันของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศทั่ว โลก และรายงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้รับการตีพิมพ์จากสื่อนานาชาติ รวมจำนวน 367 บทความ นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้จัดตั้งผลงานประติมากรรม Taiwan Can Help ขึ้นบริเวณลานกว้างปาแลเดนาซียง (Palais des Nations) หน้าที่ทำการของสำนักงานสหประชาชาติประจำนครเจนีวา และจัดทำการประชาสัมพันธ์ผ่านป้ายโฆษณารถบัสสาธารณะ ที่วิ่งวนรอบพื้นที่นครเจนีวา ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและการสนับสนุนต่อแผนผลักดันการเข้าร่วมของไต้หวัน ให้เป็นที่ประจักษ์แก่กลุ่มผู้แทนนานาชาติ
นอกจากนี้ กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในต่างแดน และกลุ่มเอกชน อย่างคณะผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่จับตาต่อประเด็นการเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศของไต้หวัน รวมถึงกลุ่มนักศึกษา จำนวนกว่า 500 คน ต่างเดินทางมารวมตัวกันในนครเจนีวา เพื่อสำแดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการเข้าร่วม WHA ของไต้หวัน ผ่านการจัดงานคาร์นิวัล นิทรรศการ ขบวนพาเหรด และการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติที่แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ของไต้หวัน
องค์การนอกภาครัฐระดับนานาชาติอย่าง “แพทยสมาคมโลก” (WMA) และ “แพทยสภาแห่งสหภาพยุโรป” (CPME) รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในพื้นที่ภูมิภาคยุโรป เอเชีย ลาตินอเมริกาและแอฟริกา ต่างก็ร่วมส่งหนังสือเรียกร้องต่อเลขาธิการใหญ่ WHO พร้อมทั้งประกาศแถลงการณ์เพื่อส่งเสียงสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA อย่างกระตือรือร้น
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ไต้หวันยึดมั่นในหลักการ “สุขภาพดีถ้วนหน้า ไต้หวันช่วยได้” (Health for all, Taiwan can help) ในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับนานาประเทศทั่วโลก เพื่อร่วมจัดตั้งเครือข่ายสุขภาพทั่วโลกที่มีความมั่นคงยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลไต้หวันจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่อไป ผนึกพลังเสียงสนับสนุนที่ยิ่งใหญ่จากประชาคมโลก พร้อมเรียกร้องให้ WHO ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม WHA รวมถึงการประชุม กิจกรรมและกลไกที่เกี่ยวข้องของ WHO ต่อไป