New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดีและสภาบริหาร วันที่ 1 มิ.ย. 66
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา นางเซียวเหม่ยฉิน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสหรัฐอเมริกา และ Ms. Ingrid Larson ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอเมริกาในไต้หวันแห่งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ร่วมลงนามความตกลงฉบับแรกภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” ที่จัดขึ้นภายในสำนักงานใหญ่สถาบันอเมริกาในไต้หวัน ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยมีนายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) Ms. Sarah Bianchi รองผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา และ Ms. Laura Rosenberger ประธานสถาบันอเมริกาในไต้หวัน (AIT) เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน โดยประธานาธิบดีไช่อิงเหวินแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้แสดงความชื่นชมต่อการร่วมลงนามความตกลงในครั้งนี้ พร้อมคาดหวังที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ให้พัฒนาไปในเชิงลึกมากขึ้น โดยเชื่อว่าจะนำมาซึ่งโอกาสที่เพิ่มพูนมากขึ้นในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไต้หวันต่อไป
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” เป็นความตกลงทางการค้าระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ที่มีความครอบคลุมและสมบูรณ์มากที่สุด นับตั้งแต่ในปีค.ศ. 1979 เป็นต้นมา ซึ่งนอกจากจะเป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ แล้ว ยังเป็นก้าวย่างแห่งพัฒนาการที่สำคัญต่อการลงนามความตกลงทางการค้าระหว่างไต้หวันและหุ้นส่วนทางการค้าอื่นๆ โดยหลังจากนี้จะมีการเปิดการเจรจาใน 7 ประเด็นภายใต้ความตกลงข้างต้น ประกอบด้วย แรงงาน สิ่งแวดล้อม การเกษตร การค้ายุคดิจิทัล มาตรฐาน กิจการรัฐวิสาหกิจ รวมถึงนโยบายและกลยุทธ์ที่ไม่เกี่ยวกับตลาด ซึ่งหลังเสร็จสิ้นการเจรจาแล้วจะมีการกำหนดเพิ่มสาระสำคัญลงในความตกลง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปูรากฐานที่มั่นคงและมีเสถียรภาพในการลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ในภายภาคหน้าต่อไป
การก้าวข้ามกรอบจำกัดของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ในครั้งนี้ถือเป็นผลงานของประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีในทุกยุคสมัยที่ผ่านมา ที่ร่วมฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆ นานัปการ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของไต้หวันในการเคารพต่อกฎระเบียบระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด ซึ่งรวมไปถึงการประสานความร่วมมือแบบข้ามหน่วยงาน จึงทำให้บังเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ดังเช่นในวันนี้
สำนักงานเจรจาเศรษฐกิจและการค้า สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า ความตกลงฉบับแรกที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ กลไกการบริหารพิธีการศุลกากร การเอื้ออำนวยความสะดวกทางการค้า กระบวนการทางกฎหมายที่มีความเป็นธรรม กฎระเบียบว่าด้วยอุตสาหกรรมการบริการภายในประเทศ การต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประกอบกับอีก 7 ประเด็นหลักที่เตรียมเปิดการเจรจาขึ้นหลังจากนี้ ได้แก่ ด้านแรงงาน สภาพแวดล้อม เกษตรกรรม พาณิชย์ดิจิทัล มาตรฐาน รัฐวิสาหกิจ นโยบายและการดำเนินมาตรการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตลาด ซึ่งนอกจากจะครอบคลุมประเด็นทางเศรษฐกิจและการค้าที่ทั่วโลกร่วมให้ความสำคัญแล้ว ยังได้มีการกำหนดเนื้อความที่เกี่ยวข้องกับความตกลงทางการค้ามาตรฐานสูง อย่างเช่น “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) ซึ่งการทยอยเปิดการเจรจาในประเด็นเหล่านี้ จะมีส่วนช่วยในการสร้างศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาดที่เป็นธรรม ความโปร่งใสของข้อมูล และการลดต้นทุนการซื้อ-ขายของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ ตลอดจนนำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนาและสร้างผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ความตกลงฉบับนี้ยังเป็นการปูพื้นฐานทางกฎหมายที่ครอบคลุมและมีความสมบูรณ์ เกี่ยวกับการไปมาหาสู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ไต้หวัน - สหรัฐฯ โดยในอนาคต เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายยังจะสามารถขยายขอบเขตของสาระสำคัญในความตกลง ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานฉันทามติและผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่การลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ในภายหน้าต่อไป
สนง.เจรจาเศรษฐกิจและการค้า ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ความตกลงชุดแรกจะเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมของไต้หวัน โดยเฉพาะศักยภาพในการเข้าร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระดับนานาชาติของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่างไต้หวันไปสู่เวทีนานาชาติ อีกทั้งไต้หวันยังมีศักยภาพในการบรรลุคำมั่นทางการค้าตามเกณฑ์มาตรฐานสูง อันจะเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และการลงนามด้านเศรษฐกิจและการค้ากับนานาประเทศในภายภาคหน้าต่อไป