New Southbound Policy Portal
กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 5 มิ.ย. 66
เพื่อผลักดันกิจกรรมการแลกเปลี่ยนระหว่างสถาบันการศึกษาในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ สำนักงานการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาก่อนวัยเรียน กระทรวง ศึกษาธิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้ผลักดัน “กิจกรรมการแลกเปลี่ยนนานาชาติสำหรับบุตรธิดาของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวัน” ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเชิงวัฒนธรรมแล้ว ยังส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนนานาชาติของสถาบันการศึกษา ผ่านรูปแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ควบคู่ไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทเป สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรและอุตสาหกรรม นครเถาหยวน ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนมุ่งมั่นเข้าร่วมใน “กิจกรรมการแลกเปลี่ยนนานาชาติสำหรับบุตรธิดาของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่” มาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งบังเกิดผลสัมฤทธิ์มากมายในด้านการผลักดันการศึกษาสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ นอกจากนี้เพื่อผลักดันกิจกรรมการแลกเปลี่ยนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ทางโรงเรียนได้รวบรวมกลุ่มนักเรียนในชมรมอาสาสมัครภาคภาษาอังกฤษ และชมรมภาษาเวียดนาม ควบคู่ไปกับการจัดหลักสูตรการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดหลักสูตรภาษาเวียดนามสำหรับบุตรธิดาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ สัปดาห์ละครั้ง ตลอดจนเพื่อบรรลุเป้าหมายการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาในเชิงลึก ยังได้ร่วมจัดทำแฟ้มข้อมูล Google Site กับสถาบันการศึกษาที่ร่วมแลกเปลี่ยน เพื่ออัปโหลดข้อมูลเบื้องต้นของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เหล่านักเรียนทำความรู้จักล่วงหน้ากับผู้ร่วมแลกเปลี่ยนและศึกษาข้อมูลเบื้องต้นก่อนการเสวนาพูดคุย
นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายนครเกาสง โดยภายหลังจากที่ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ ภายใต้ “กิจกรรมการแลกเปลี่ยนนานาชาติสำหรับบุตรธิดาของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่” แล้ว ก็ได้มุ่งมั่นจัดกิจกรรมการบรรยายข้อมูลเชิงวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์ และจัดกิจกรรมการลงสำรวจในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจต่อถิ่นฐานบ้านเกิดของบิดา – มารดา ให้แก่บุตรธิดาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับการยอมรับต่อวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ นอกจากนี้ ทางสถาบันฯ ยังได้ร่วมจัดเสวนาแลกเปลี่ยนกับกลุ่มนักเรียนในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อส่งเสริมให้เหล่านักเรียนทำความเข้าใจกับความคล้ายคลึงและความแตกต่างทางวัฒนธรรม ระหว่างไต้หวัน - เวียดนาม ถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและชื่นชมต่อวัฒนธรรมที่หลากหลายในสังคม ตลอดจนเป็นการเพิ่มพูนวิสัยทัศน์ให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น
สำนักงานการศึกษาภาคบังคับ แถลงว่า โครงการแลกเปลี่ยนระหว่างสถาบันการศึกษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว โดยมีนักเรียนและนักศึกษาในไต้หวันเข้าร่วมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 807 คน ในจำนวนนี้ ประกอบด้วย นักเรียนที่เป็นบุตรธิดาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ รวม 325 คน ส่วนนักเรียนและนักศึกษาในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์ที่เข้าร่วม มีจำนวนรวม 788 คน จะเห็นได้ว่า บังเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่าพึงพอใจ โดยกระทรวงศึกษาธิการไต้หวันคาดหวังที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางการศึกษาในเชิงลึกระหว่างสถาบันการศึกษา ในอนาคตอย่างต่อเนื่องต่อไป