New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 14 มิ.ย. 66
นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของ “ศูนย์ค่านิยมด้านนโยบายความมั่นคงแห่งยุโรป” (European Values Center for Security Policy, EVC) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองสาธารณรัฐเช็ก ในการเดินทางไปเข้าร่วม “การประชุมสุดยอดค่านิยมในกลุ่มประเทศยุโรป ปี 2023” (European Values Summit 2023) ที่จัดขึ้นในกรุงปราก เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมทั้งร่วมแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “1 พื้นที่สงคราม 1 พื้นที่โลกและ 1 วิสัยทัศน์” (One Theater, One World, and One Vision) หลังจากที่ H.E. Petr Pavel ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเช็ก เสร็จสิ้นการกล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการประชุม โดยรมว.อู๋ฯ ได้เรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างสามัคคี ภายใต้สถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน ที่อำนาจเผด็จการกำลังแผ่ขยายอิทธิพลไปสู่กลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ขณะนี้ กลุ่มประเทศในยุโรปต่างได้รับผลกระทบจากสงคราม พร้อมทั้งร่วมประณามรัสเซียที่เข้ารุกรานดินแดนยูเครนตามอำเภอใจ ซึ่งขัดต่อค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชน กฎบัตรและหลักการการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของสหประชาชาติ รวมไปถึงความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล อันนำมาซึ่งความเจ็บปวดและการสูญเสียครั้งใหญ่ในยูเครนและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า สงครามรัสเซีย – ยูเครน ยังนำมาซึ่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก โดยไต้หวันและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ต่างยึดมั่นในแนวคิดการยุติสงคราม ด้วยการประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย พร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครน เนื่องจากไต้หวันอยู่อีกซีกหนึ่งของโลก ที่ต้องเผชิญหน้ากับอิทธิพลที่มาจากอำนาจเผด็จการที่ยิ่งใหญ่กว่าเช่นเดียวกัน
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า นับวันภัยคุกคามในพื้นที่สีเทาและแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เกิดจากอำนาจเผด็จการของจีนในภูมิภาคเอเชีย จะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกที โดยจีนได้โจมตีสังคมที่เปิดกว้างของไต้หวันผ่านสงครามลูกผสม ทั้งสงครามจิตวิทยา ข่าวปลอมและการคุกคามทางไซเบอร์ อีกทั้งเรือรบและเครื่องบินรบของจีนได้รุกล้ำเส้นกึ่งกลางช่องแคบไต้หวันบ่อยครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อกวนและบั่นทอนความมุ่งมั่นในการป้องกันประเทศด้วยตนเองของประชาชนชาวไต้หวัน ให้เกิดการสั่นคลอน
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า เมื่อช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้เสนอ “แผนการฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของชาวจีน” ถือเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ของจีน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะปิดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ความเชื่อและเสรีภาพในการเลือกตั้งของภาคประชาชน เพื่อต้องการที่จะสานต่อการปกครองรูปแบบเผด็จการ ควบคู่ไปกับการบ่อนทำลายความเห็นต่างทั้งในและต่างประเทศ
รมว.อู๋ฯ กล่าวเสริมว่า ประสบการณ์ของฮ่องกง สะท้อนให้เห็นแล้วว่า “หลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ” เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อเผชิญหน้ากับการยื่นเสนอ “หลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ หรือแผนปฏิบัติการสำหรับไต้หวัน” ที่รัฐบาลจีนได้เสนอขึ้นมาเมื่อวันที่ 2 ม.ค. ปี 2019 ชาวไต้หวันกลับยิ่งยึดมั่นในค่านิยมด้านเสรีภาพและประชาธิปไตยของตนเองอย่างหนักแน่น อย่างไรก็ตาม ไต้หวันมิได้ต้องการให้จีนกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของชาวต่างชาติ เนื่องจากทั้งจีนและไต้หวันต่างมีจุดกำเนิดทางวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน ไต้หวันมิได้มีความเกลียดชังต่อประชาชนชาวจีนเลยแม้แต่น้อย เพียงคาดหวังว่า เสรีภาพที่ประชาชนชาวไต้หวันยึดมั่น จะสามารถบังเกิดขึ้นในจีนได้เช่นเดียวกัน
รมว.อู๋ฯ กล่าวอีกว่า การแผ่ขยายอิทธิพลของจีนมิได้จำกัดเพียงเฉพาะในไต้หวันเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปสู่พื้นที่ทะเลจีนตะวันออกและพื้นที่ทะเลจีนใต้ โดยกองทัพปลดปล่อยประชาชนได้จัดส่งเหล่าทหารพลเรือนเข้าประจำการในพื้นที่น่านน้ำกลางทะเล และติดตั้งอาวุธบนเรือประมง เพื่อแผ่ขยายอิทธิพลและขยายดินแดนให้กว้างออกไป ทำให้การปกป้องรักษาสันติภาพในภูมิภาค เป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น
รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า สงครามในยุโรป และการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการในภูมิภาคเอเชีย ดูเหมือนจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีความเชื่อมโยงและส่งผลกระทบไปทั่วโลกเป็นวงกว้าง ยกตัวอย่างเช่น หลังสงครามรัสเซีย – ยูเครนปะทุขึ้น ทุกพื้นที่ทั่วโลกต่างต้องประสบกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาการขาดแคลนพลังงานและวิกฤตตลาดหุ้น หากพื้นที่ช่องแคบไต้หวันเกิดสงคราม ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบไต้หวันในสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และอุปทานของแผ่นชิปจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตในไต้หวัน กว่าร้อยละ 90 ที่จะป้อนเข้าสู่ตลาดโลก ก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก อันจะส่งผลกระทบที่เหนือความคาดหมายต่อระบบเศรษฐกิจโลกต่อไป
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า นับวัน ทิศทางการการบรรจบกันของอำนาจเผด็จการจีน – รัสเซีย จะยิ่งชัดเจนมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะความร่วมมือทางการทหาร หลังจากที่สงครามรัสเซีย - ยูเครน ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด กำลังทหารของรัสเซีย ก็ยิ่งเสื่อมถอยลง อันเนื่องมาจากผลของสงคราม จีนจึงฉวยโอกาสนี้เข้าแทรกซึมและแผ่ขยายอิทธิพลไปสู่พื้นที่ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกาและลาตินอเมริกา อีกทั้งจีนยังร่วมลงนามความตกลงทางความมั่นคงกับหมู่เกาะโซโลมอน ตลอดจนจัดตั้งฐานทัพในพื้นที่ท่าเรือ Chittagong Hill Tracts ในเมียนมา และท่าเรือ Hambantota International Port ในศรีลังกา เพื่อทำการปูรากฐานแห่งอิทธิพลตาม “ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก” (string of pearls) ด้วย
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า การโจมตีผ่านข่าวปลอมของประเทศลัทธิอำนาจนิยมในปัจจุบัน ได้แผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ โดยจีนได้เข้ารุกรานยุโรปด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในสังคม ทำลายรากฐานค่านิยมทางประชาธิปไตย อย่างเช่นการแพร่สะพัดข้อความที่ว่า “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่นำโดยสหรัฐฯ เป็นจุดชนวนของเหตุสงครามรัสเซีย – ยูเครน” นอกจากนี้ จีนยังได้สร้างความหวาดระแวงให้เกิดขึ้นในสังคมไต้หวัน ภายใต้ “หลักการข้อกังขาที่มีต่อสหรัฐฯ” เพื่อต้องการก่อกวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในไต้หวันที่เตรียมจะเปิดฉากขึ้นในเร็ววันนี้ โดยรมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า การโจมตีทางไซเบอร์แทรกซึมไปทุกอณู อย่างไรก็ตาม ไต้หวันยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อสกัดกั้นภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้หมดสิ้นไป
รมว.อู๋ฯ เผยว่า ไต้หวันมุ่งมั่นในการธำรงรักษาสถานเดิมในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน โดยเราจะไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดันและจะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการยั่วยุและท้าทาย การธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน และเป็นความคาดหวังร่วมกันของสังคมประชาธิปไตยทั่วโลก
รมว.อู๋ฯ ยังใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อพลังเสียงสนับสนุนของมิตรสหายชาวยุโรป ที่ทำให้ไต้หวันยังคงยืนหยัดอยู่ได้อย่างแข็งแกร่งและทรหด อีกทั้งยังได้กล่าวถึง Mr. Miloš Vystrčil ประธานวุฒิสภาสาธารณรัฐเช็ก และ Ms. Markéta Pekarová Adamová ประธานสภาผู้แทนราษฎรสาธารณรัฐเช็ก ที่ไม่หวั่นเกรงต่อแรงกดดันจากจีน และแสดงออกด้วยการทยอยนำคณะตัวแทนเดินทางเยือนไต้หวัน ในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังชี้อีกว่า ในระยะนี้ รัฐบาลสโลวักได้รวบรวมคณะตัวแทนจากภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ เดินทางเยือนไต้หวัน พร้อมทั้งรู้สึกยินดีที่ได้เห็นรัฐบาลลิทัวเนียส่งคณะตัวแทนเดินทางมาเยือนไต้หวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความร่วมมือทางการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน โดยรมว.อู๋ฯ ได้แสดงความชื่นชมและยอมรับต่อกลุ่มประเทศเหล่านี้ว่า แม้ว่าจำนวนประชากรและดินแดนจะไม่เทียบเท่าประเทศอื่นๆ แต่กลับมีความกล้าหาญในการต่อสู้กับแรงกดดันได้อย่างดีเยี่ยม นับเป็น “ผู้ยิ่งใหญ่ทางคุณธรรม” (Moral Giants) อย่างแท้จริง พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐสภายุโรปและกลุ่มสมาชิกรัฐสภาจากกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ที่ร่วมแสดงความสนับสนุนต่อไต้หวัน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนชาวไต้หวันได้รับรู้ว่า พวกเราไม่โดดเดี่ยวบนเส้นทางแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย อันจะทำให้มีความกล้าและเข้มแข็งที่จะเดินหน้าต่อไป
ปธน. Pavel ได้ระบุถึงสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ในระหว่างการกล่าวปราศรัย อีกทั้งยังได้แสดงความห่วงใยต่อประชาธิปไตยและเสรีภาพของไต้หวัน พร้อมเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการหลีกเลี่ยงการพึ่งพาจีนในกลุ่มประเทศประชาธิปไตย เนื่องจากค่านิยมของจีนและกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ไม่สอดคล้องกัน ปธน. Pavel ยังได้เรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตย ประสานความสามัคคีในการสนับสนุนสถานภาพเดิมในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉาบฉวยด้วยวิธีการที่เป็นการบีบบังคับ ตลอดจนสร้างหลักประกันเพื่อให้มั่นใจว่า ประชาธิปไตยและเสรีภาพของไต้หวันจะได้รับการธำรงรักษาไว้ต่อเนื่องสืบไป