New Southbound Policy Portal

รมว.พัฒนาดิจิทัลไต้หวันเข้าพบรองประธานสภาขุนนางของอังกฤษ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาทางประชาธิปไตย และสร้างโอกาสในการร่วมมือทางเทคโนโลยี

กระทรวงพัฒนาดิจิทัล วันที่ 17 มิ.ย. 66
 
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตามเวลาในอังกฤษ ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาดิจิทัล สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้นำคณะตัวแทนเดินทางเยือนรัฐสภาอังกฤษ พร้อมทั้งเข้าเยี่ยมพบ Mr. Lord Faulkner of Worcester ทูตพิเศษทางการค้าของรัฐบาลอังกฤษที่ประสานงานติดต่อกับรัฐบาลไต้หวัน และรองประธานสภาขุนนางแห่งสหราชอาณาจักร เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็นด้านการพัฒนาทางประชาธิปไตยและความร่วมมือด้านเทคโนโลยี ระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ โดยรมว.ถังฯ ยังได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยเทคโนโลยี AI (AI Roundtable) รอบที่ 2 เพื่อพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญแบบข้ามแวดวง ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการมุ่งสู่ทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยี AI
 
รมว.ถังฯ ได้เข้าพบปะหารือกับ Mr. Faulkner โดยมี Mr. John Dennis ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษประจำไต้หวัน เข้าร่วมด้วย โดย Mr. Faulkner เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานร่วม “คณะทำงานของรัฐสภาระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ” (APPG) และได้มีโอกาสนำคณะตัวแทนรัฐสภาเดินทางเยือนไต้หวันบ่อยครั้งตลอดช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งยังได้มุ่งผลักดันความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนในด้านต่างๆ ระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ มาเป็นระยะเวลายาวนาน
 
รมว.ถังฯ กล่าวว่า จากการพบปะแลกเปลี่ยนกันในครั้งนี้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความเข้าใจต่อประสบการณ์การพัฒนาทางประชาธิปไตยระหว่างกันในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น พร้อมหวังที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ ในเชิงลึกต่อไป เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางเทคโนโลยีให้มากยิ่งขึ้น
 
โดยรมว.ถังฯ ยังได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยเทคโนโลยี AI รอบที่ 2 ที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เว็บ 3.0 และ AI ที่เชื่อถือได้” (web3 and Trustworthy AI) พร้อมทั้งได้มีการเปิดการเจรจากับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญแบบข้ามแวดวง ในศูนย์นวัตกรรมทางอุตสาหกรรมของอังกฤษ (Digital Catapult) และห้องทดลอง Dark Matter Labs (DML)
 
ในระหว่างการประชุม รมว.ถังฯ ได้ร่วมแบ่งปันการจัดกิจกรรม “การประชุม Alignment Assemblies” ที่ร่วมจัดขึ้นโดยพันธมิตรระหว่างประเทศ ได้แก่ “โครงการปัญญารวมหมู่” (Collective Intelligence Project, CIP) , OpenAI และ Anthropic ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีเป็นวงกว้าง โดยผู้เข้าร่วมการประชุม ได้ร่วมแบ่งปันกลไกการบริการสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วย AI และแนวทางการส่งเสริมประชาธิปไตยของข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งร่วมอภิปรายในประเด็นแนวทางการประยุกต์ใช้ชุดโมเดลภาษา เพื่อการจัดตั้งแบบจำลองเสมือนของวัตถุทางกายภาพ ที่ถูกสร้างขึ้นจากการบูรณาการเทคโนโลยีหลายอย่าง (Digital Twin) ผ่านการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่งสำหรับพลเรือน (Civil IoT Taiwan) เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นในชุมชน
 
เหล่าผู้เชี่ยวชาญต่างให้การยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า การผลักดัน AI ที่เชื่อถือได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล กลุ่มผู้ประกอบการ นักวิชาการและประชาชนทุกแวดวงในสังคม เพื่อร่วมกำหนดมาตรฐานและทิศทาง จัดตั้งแพลตฟอร์มการเจรจา เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางความรู้ จึงจะสามารถร่วมกันเปิดศักราชใหม่สู่ยุคดิจิทัลที่มั่นคงและเชื่อถือได้ในภายภาคหน้าต่อไป