New Southbound Policy Portal
สภาบริหาร วันที่ 26 มิ.ย. 66
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สำนักงานเศรษฐกิจและการค้ายุโรป (European Economic and Trade Office, EETO) ประจำไต้หวัน และสมาพันธ์ตรวจสอบการบังคับใช้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Covenants Watch) ร่วมจัด “การประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมาณ” (International Symposium on the Convention Against Torture) โดยได้เชิญ Dr. Jens Modvig และ Dr. Dainius Pūras ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนสากล เข้าทำหน้าที่เป็นผู้บรรยาย โดยคาดหวังที่จะเรียนรู้ประสบการณ์เชิงปฏิบัติจริงในต่างประเทศเพื่อนำมาใช้เป็นหลักอ้างอิงในการผลักดันอนุสัญญาต่อต้านการทรมาณ บัญญัติเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ภายในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อขจัดบทลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ให้หมดไปจากไต้หวัน
นายหลัวปิ่งเฉิง รัฐมนตรีประจำสภาบริหารไต้หวัน กล่าวขณะปราศรัยว่า วันที่ 26 มิ.ย. ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น “วันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล” (International Day in Support of Victims of Torture) การจัดการประชุมขึ้นในระหว่างนี้ จึงนับว่าเปี่ยมด้วยนัยยะที่พิเศษยิ่ง โดยรมว.หลัวฯ เผยว่า ในปี 2020 สภาบริหารได้นำ “ร่างอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการกระทำใดๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี รวมถึงพิธีสารเลือกรับ (Optional Protocol) ว่าด้วยแนวทางการบังคับใช้ตามแผนแม่บท” ยื่นเสนอต่อสภานิติบัญญัติพิจารณาแล้ว นอกจากนี้ ในปี 2020 ยังได้มีการปรับแก้ไขข้อระเบียบหลายประการในกฎหมายราชทัณฑ์ โดยได้ยื่นเสนอมาตรการปฏิรูปที่หลากหลาย อาทิ การจัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบนอกพื้นที่เรือนจำ การพิจารณาตรวจสอบประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนในเรือนจำ ผ่านการเข้าร่วมอภิปรายของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญภายนอก เพื่อส่งเสริมการปรับปรุงแก้ไขระบบระเบียบในเรือนจำ ทั้งนี้ เพื่อให้สถานการณ์สิทธิมนษุยชนและกลไกการปฏิบัติต่อนักโทษ ได้รับการแก้ไขในทิศทางที่ดียิ่งขึ้นต่อไป สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจและความพยายามของไต้หวัน ในการป้องกันและปราบปรามการทรมาณและการกระทำใดๆ ที่ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี
นางสาวเฉินจวี๋ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภายใต้สภาบริหาร กล่าวขณะปราศรัยว่า “พิธีสารเลือกรับว่าด้วยอนุสัญญาต่อต้านการทรมาณ” ได้ระบุไว้ว่า ประเทศภาคีสมาชิกควรกำหนดหรือจัดตั้ง “กลไกการป้องกันการทรมานระดับชาติ” (National Preventive Mechanism, NPM) ขึ้นอย่างน้อย 1 องค์กรที่เป็นองค์กรอิสระ เพื่อผลักดันภารกิจการป้องกันบทลงโทษที่โหดร้ายทารุณระดับประเทศ โดยในปี 2021คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน ได้เปิดโครงการนำร่องการเยี่ยมชมกลไกการป้องกันการทรมาณระดับประเทศ ด้วยการเข้าเยี่ยมเยือนกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานดูแลและควบคุมพฤติกรรมเด็กและเยาวชน 8 แห่ง ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ นอกจากนี้ คกก.สิทธิมนุษยชนยังได้จัดการบรรยายและการฝึกอบรมภายในหน่วยงาน หลายครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและจัดตั้งกลไก NPM ที่เหมาะสมแก่ไต้หวัน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและคณะกรรมการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน สภาบริหาร แถลงว่า “แผนปฏิบัติการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ฉบับแรกของไต้หวัน นอกจากจะกำหนดให้มีการนำอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน บัญญัติเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ภายในประเทศแล้ว ยังวางแผนผลักดันการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเข้าใจและการเคารพศักดิ์ศรีของมนุษยชน สิทธิในการดำรงชีวิต การต่อต้านการทรมาณและการต่อต้านบทลงโทษที่ไร้มนุษยธรรม การปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมและไม่ดูหมิ่นซึ่งกัน โดยคาดหวังว่าการประชุมในครั้งนี้จะทำหน้าที่เป็นเวทีเจรจาระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจต่อใจความสำคัญในอนุสัญญา และอ้างอิงประสบการณ์เชิงปฏิบัติจริงในต่างประเทศ เพื่อร่วมกันขจัดการทรมาน และการกระทำใดๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ให้หมดไป